/

“สร้างเขื่อนปิดทางน้ำธรรมชาติ
การบุกรุกพื้นที่โดยรอบ บึงบอระเพ็ดจึงสูญเสียศักยภาพของการเป็นแหล่งธรรมชาติและแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ลงไปอย่างน่าเศร้า”

Start
160 views
11 mins read

“ผมเกิดนครสวรรค์ เรียนที่นี่อยู่พักหนึ่ง ก่อนไปเรียนและทำงานที่อื่น ความที่รู้จักคุ้นเคยกับ คุณสมศักดิ์ อรุณสุรัตน์ (ประธานสภาเทศบาลนครนครสวรรค์) ท่านเห็นว่าผมมีประสบการณ์ในการพัฒนาพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ก็เลยชวนผมมาเป็นที่ปรึกษา ร่วมวางผังและออกแบบแนวทางการพัฒนาพื้นที่เมืองนครสวรรค์

บ้านผมอยู่แถวบึงบอระเพ็ด เห็นมาตั้งแต่เกิดว่าบึงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยแห่งนี้มันมีความสมบูรณ์ขนาดไหน แต่นั่นล่ะ ด้วยปัจจัยหลายประการ ทุกวันนี้ บึงแห่งนี้มีความตื้นเขิน ควบคู่ไปกับการให้คำปรึกษาเรื่องการขยายเศรษฐกิจให้กับเมือง ผมจึงให้ความสำคัญกับข้อเสนอเรื่องการฟื้นฟูบึงบอระเพ็ดแห่งนี้ก่อน

ประเด็นก็คือเคยมีอยู่ช่วงหนึ่ง จะด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรืออะไรก็ตามแต่ ภาครัฐสมัยนั้นดันไปสร้างเขื่อนปิดทางน้ำธรรมชาติ ไม่ให้มันไหลเข้าบึงบอระเพ็ด และมันส่งผลสะสมต่อเนื่องทำให้ปริมาณน้ำในบึงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพราะมันไม่สามารถผันน้ำจากธรรมชาติเข้ามาได้ ประกอบกับการบุกรุกพื้นที่ธรรมชาติโดยรอบ บึงบอระเพ็ดจึงสูญเสียศักยภาพของการเป็นแหล่งธรรมชาติและแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ลงไปอย่างน่าเศร้า

หนักขนาดไหน ก็ถึงระดับที่แต่ก่อนที่นี่เป็นหล่งเพาะพันธุ์นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร บึงแห่งนี้เป็นที่เราจะพบนกชนิดนี้ในฤดูหนาวแห่งเดียวในโลก… แต่ทุกวันนี้ไม่มีอีกแล้ว

พอรัฐเริ่มตระหนัก จึงค่อยมีการใช้เครื่องสูบน้ำเพื่อสูบเข้าบึง ซึ่งใช้งบประมาณมหาศาล และสร้างทัศนียภาพที่ไม่งดงาม ไม่สมกับเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด ผมจึงคิดว่ามันถึงเวลาที่เราควรหารือกันอย่างจริงจังได้แล้ว อาจทำแค่การเจาะอุโมงค์ให้น้ำลอดประตูระบายน้ำไปในขั้นต้นก่อนก็ได้ ทำให้บึงเรามีระดับที่เพียงพอ ขณะเดียวกันก็กวดขันการบุกรุกพื้นที่ ทำให้ธรรมชาติได้กลับมาฟื้นตัว 

ในเรื่องอื่นๆ ผมไม่ค่อยกังวล จริงอยู่นครสวรรค์กำลังติดปัญหาเรื่องผังเมืองรวม มีการกำหนดพื้นที่โซนสีเขียวไปอยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจ ทีนี้การก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็เลยทำไม่ได้ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานต่างๆ ทั้งทางกฎบัตร สมาคมผังเมือง และเทศบาลฯ เขาก็พยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้อยู่ ซึ่งถ้าแก้ได้ มันจะเป็นการปลดล็อคให้เกิดการลงทุน และการกระจายตัวทางเศรษฐกิจของเมือง

และถ้าเมืองมีการลงทุนมากขึ้น นั่นหมายถึงการดึงดูดผู้คนจากที่ต่างๆ เข้ามาอีกมาก

ทั้งนี้ ผมมีข้อเสนออีกประการคือการสร้างจุดทำมาค้าขายและจุดกระจายสินค้าของคนในจังหวัด อาศัยชัยภูมิของการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของภาคเหนือตอนล่างให้เป็นประโยชน์ จุดที่ว่าอาจหมายถึงการมีแลนด์มาร์คทางเศรษฐกิจ เอาจุดแข็งและจุดขายของเมืองมารวมไว้ ไม่จำเป็นต้องลงทุนแบบศูนย์แสดงสินค้าขนาดใหญ่ก็ได้ ใช้อาคารที่เรามี และทำให้การคมนาคมและการเข้าถึงมันสะดวก จัดแสดงสินค้าทางอุตสาหกรรมและวัฒนธรรม ไปจนถึงงานศิลปหัตถกรรม และการแสดง

อบจ. อบต. หรือ สส. หรือผู้มีอำนาจในการจัดสรรงบ อาจนำเรื่องนี้ไปใคร่ครวญและออกแบบแผนการล่วงหน้า ให้จุดนี้เป็นศูนย์กลางดึงดูดผู้คน เพราะทุกวันนี้นครสวรรค์มีพาสานเป็นแม่เหล็กหนึ่งอย่างแล้ว มีอาหารการกินเป็นแม่เหล็กอีกอย่าง ศิลปวัฒนธรรมของชาวจีนก็ด้วย ถ้ามีแลนด์มาร์คทางเศรษฐกิจ ก็น่าจะดึงคนเข้ามาสัมผัสศักยภาพของเมืองเราได้อีกเยอะ

พัฒนพงศ์ สุวรรณชาต
รองกรรมการผู้จัดการสายงานบัญชีและการเงิน บมจ.ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง (RT) 
และที่ปรึกษาคณะกรรมการกฎบัตรนครสวรรค์

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย