/

“อำเภอปากช่องประกาศเป็นสมาร์ตซิตี ถามว่าสมาร์ตซิตีแล้วยังไงต่อ มันสมาร์ตตรงไหน สมาร์ตอย่างไร แต่ว่าหน้าที่เราไม่ใช่หน้าที่บ่น เราเป็นนักปฏิบัติ”

Start
212 views
47 mins read

เชื่อมเครือข่ายหุบเขาแห่งความสุข

อำเภอปากช่อง อำเภอแรกสุดของการเดินทางจากถนนมิตรภาพสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีขนาดพื้นที่ใหญ่สุดของจังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย 12 ตำบล 219 หมู่บ้าน ประชากรราว 190,000 คน มากเป็นอันดับสองรองจากอำเภอเมืองนครราชสีมา

ความที่อาณาเขตติดต่อกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ และอุทยานมรดกแห่งอาเซียน ซึ่งมีระดับโอโซนเป็นอันดับ 7 ของโลก ทำให้ชาวเมืองและผู้มาเยือนได้รับอากาศบริสุทธิ์ ดีต่อสุขภาพ รวมทั้งมีสภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศที่เหมาะแก่การเพาะปลูก ทำฟาร์มปศุสัตว์ และอุตสาหกรรมงานบริการ ทำให้พื้นที่เขาใหญ่ ปากช่อง เป็นหมุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติที่จัดว่าทำรายได้อย่างมากให้กับอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และประเทศไทย

WeCitizens นั่งสนทนาพร้อมรับประทานอาหารอีสานดีกรีมิชลินกับเจ้าของร้านอาหาร “เป็นลาว” พันชนะ วัฒนเสถียร ในบทบาทนายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ และรองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา ถึงความท้าทายหลากหลายมิติของงานพัฒนาพื้นที่เขาใหญ่ ปากช่อง

คุณเป็นนายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่สมัยที่ 2 แล้ว

               ค่ะ คือเราอยู่เขาใหญ่มา 20 ปีแล้ว ก่อตั้งร้านอาหารเป็นลาวตั้งแต่เป็นเพิงเล็กๆ พนักงาน 1 คน 2 คน 3 คน จนมาทุกวันนี้ 15 ปี พนักงาน 50-60 คน ขยายไปเปิดร้านที่หัวหิน และทำแฟรนไชส์ เปิดร้าน “อันหยังก็ได้ Un-Yang-Kor-Dai” ที่สิงคโปร์ ซึ่งได้มิชลินติดกันมา 3 ปี ร้านที่เขาใหญ่เพิ่งได้มิชลิน บิบ กูร์มองด์ เพราะททท.ขยายโหนดมาภาคอีสาน (คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ประเทศไทย ประจำปี 2566 ขยายร้านอาหารจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยุธยา เชียงใหม่ ภูเก็ต พังงา สู่อีก 4 เมืองตัวแทนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี และอุดรธานี) เพราะฉะนั้น ในแง่บทบาทการทำงานกับชุมชน เราทำมานาน เข้มข้นอยู่แล้ว อย่างช่วงโควิด เขาใหญ่ไม่เคยเงียบเหงา เราเองก็ไม่อยากให้เหงา เพราะประเทศมีวิกฤติ ก็ทำ Food for Fighters (เครือข่าย Food for Fighters สร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อสนับสนุนนักสู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19) ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ

ทำไมเขาใหญ่ไม่เคยเงียบเหงา?

               มันคืออานิสงส์ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งเป็นมรดกโลก ประเด็นสำคัญคือพื้นที่ 1.3 ล้านไร่ที่ครอบคลุม 4+2 จังหวัด (สระบุรี นครราชสีมา ปราจีนบุรี นครนายก + สระแก้ว บุรีรัมย์) ในผืนป่าดงพญาเย็น เราใช้พื้นที่สันทนาการจริงๆ แค่ 1% นี่คือปอดที่ดีที่สุด ที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ สร้างออกซิเจน โอโซน และทุกอย่างให้ เพราะฉะนั้น ในแง่ของการพัฒนาหรือทำงานใดๆ ก็ตาม เรามีพันธสัญญาร่วมกัน ในนามนายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ นโยบายของเราคือ Green และเน้นการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ไม่ว่าการพัฒนาเมืองด้านต่างๆ จะผันแปรไปในรูปแบบใด ใครจะมาเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มาเป็นผู้บริหารเมือง ไม่รู้ แต่เขาใหญ่ยังต้องคงอยู่ และอยู่มาแล้ว นี่คือสิ่งที่พิสูจน์แล้ว แต่ก็มีประเด็นอ่อนไหวจากการจะถูกปลดจากมรดกโลกได้เหมือนกัน ถ้าเราไม่ดูแล ด้านทรัพยากรธรรมชาติ การตัดไม้ทำลายป่า ไม้มีค่า สัตว์ป่า มีประเด็นเยอะมากมาย ถ้าเปรียบเทียบ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อยู่ข้างบน แล้วชาวบ้านเรา ผู้ประกอบการ อยู่โดยรอบ เขาใหญ่เป็นไข่แดง ช่วงโควิด ปี 2564 พิสูจน์แล้วว่า นักท่องเที่ยวขึ้นอุทยานฯ 1.5 ล้านคน เราไม่เจอโลว์ซีซัน เพราะคนหนีจากกรุงเทพฯ มาพบอากาศบริสุทธิ์ แล้วก็ก่อให้เกิดการท่องเที่ยวเชิง Glamping, Camping, Pool Villa ที่สร้างทั้งข้อดี และข้อที่เป็นปัญหาที่ต้องจัดการตามมา เวลาคนมาอยู่ ก็มีไม่กี่เรื่องหรอก การจัดการทรัพยากร น้ำ ขยะ การจราจร

สนใจพัฒนาด้านใดในหมวกของการเป็นทั้งผู้ประกอบการในชุมชนและนายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่?

                โดยส่วนตัว สนใจการพัฒนาเมืองและสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว เราทำมาหากินอยู่ที่นี่ เราดูแลผู้คน ทำงานร่วมกับเขาใหญ่ ชุมชน โดยไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก คือสมาคมเป็นเหมือนสังกัด บางเรื่องจำเป็นต้องใช้กลุ่มก้อนในการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เราซึ่งเป็นตัวกลาง ก็ทำงานได้กับทุกคน ที่เขาใหญ่ อำเภอปากช่อง มี 2 สมาคม 28 ชมรมอนุรักษ์ ไล่ตั้งแต่ไผ่หนาม ฮักเขาใหญ่ ชมรมส่งเสริมวัฒนธรรมพื้นถิ่น ชมรมผู้ประกอบการร้านอาหารอำเภอปากช่อง มีเครือข่าย รักษ์ช้างเขาใหญ่ มากมายก่ายกอง พอมาทำงานก็พบว่า ใครจะมีความเชื่อยังไง ให้เขาทำไป คือคุณไม่ต้องเอามารวมในที่เดียว เดี๋ยวนี้โลกกระจัดกระจาย เพียงแต่ว่าคุณเชื่อมโยงยังไง บางคนเขาอาจจะอยากเป็นหัว ตรงนี้อยากเป็นตรงกลาง เราอยากเป็นหาง เพราะฉะนั้น อย่าไปยึดติดกับตำแหน่งแห่งที่ ทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ เริ่มทำจากความสนใจในตัวเรา ทั้งในระดับชุมชนไปจนถึงระดับโลก เท่าที่เราทำได้ เราเป็นคนมีเพื่อนเยอะ ก็ให้เพื่อนช่วยนี่แหละ ไม่ได้มีอะไรพิสดารเลย

ทำอย่างไรจึงสร้างเครือข่ายได้?

               ก็ต้องมีแกนนั่ง แกนนอน แกนยืน ที่ชัดเจน แล้วก็มีเป้าหมายร่วมกัน ของเขาใหญ่ ดูเหมือนยากแต่ง่าย ดูเหมือนง่ายแต่ยากอยู่อย่างหนึ่ง นี่คำพูดลุงน้อย (สุรินทร์ สนธิระติ – สวนซ่อนศิลป์) นะ บอกว่า เป้าหมายคือเขาใหญ่เป็นองค์ประธาน ไม่ว่าจะสายตาสั้นสายตายาว เรามองเห็นสีเขียวร่วมกัน มองเห็นว่านี่คือทรัพยากรที่มีค่าที่สุด ถ้าเขาใหญ่ถูกกระทบกระเทือน หมายถึงการลงทุนเป็นหมื่นๆ ล้านก็ถูกกระทบกระเทือน หุบเขาแห่งความสุขจะกลายเป็นความทุกข์ทันที แล้วยิ่งต่อไป มอเตอร์เวย์เปิด คราวนี้ 45 นาทีจากกรุงเทพฯ คนจะมากันใหญ่เลย จะไม่มีช่วงเวลาธรรมชาติฟื้นตัว ฉะนั้นนี่เป็นโจทย์ใหญ่ของเรา

               ทีนี้ เราเห็นแล้ว พอประเทศเปิด คนเดินทาง เขาใหญ่เป็นที่ของคนที่เกษียณแล้วมาอยู่ เป็นบ้านหลังที่ 2 เขาใหญ่ถูกปักธงตามแนวเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เป็นทางด้าน Wellness ซึ่ง “เดอะ เครสตัน ฮิลล์” (The Creston Hills) ก็จะเป็น Banyan Tree เป็น Luxury Residences ทุกคนก็พูดกันเรื่อง Wellness เพราะเรามีเขาใหญ่ อากาศดี อาหารดี นำมาซึ่งอารมณ์ดี สุขภาพชีวิตดี ฉะนั้น ในปัจจัยเหล่านี้ ต่อให้คุณมีเงินก็ทำคนเดียวไม่ได้ คุณอาจจะสร้างโรงพยาบาลหรูหรามากมาย แต่คุณต้องพึ่งพาทรัพยากร เพราะฉะนั้น หน้าที่เรา คือเชิญชวนให้คนมาทำงานร่วมกัน ให้คนรู้จักเขาใหญ่ในมุมมองที่เป็นทรัพยากรโลก คุณอย่าไปมองว่า ปล่อยให้ชุมชนรับผิดชอบ ปล่อยให้เทศบาลรับผิดชอบ มันไม่ได้ เพราะปัญหาโลกร้อนไม่ใช่เรื่องของเราคนเดียว เป็นเรื่องใหญ่มาก ที่ต้องจัดการให้ Net Zero, Carbon Emission, กฎกติกาโลก เยอะแยะไปหมด ถูกมั้ย

               ในจังหวัดโคราช คือ 32 อำเภอ ใหญ่มากจริงๆ แต่เวลาพูดถึงเขาใหญ่ นึกถึงอะไร ถนนธนะรัชต์ แค่นี้ มันไม่แฟร์นะ เพราะเขาใหญ่ ตามหลักหมายถึง 4 จังหวัด นครราชสีมา ปราจีนบุรี นครนายก สระบุรี ถ้ารวมผืนป่าดงพญาเย็น คือรวมสระแก้วกับบุรีรัมย์ เพราะฉะนั้น สมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ ตั้งใจใช้คำว่า “เขาใหญ่” เพราะอยากให้สมาชิกรวมเขาใหญ่มาได้ เราทำงานร่วมกับวังน้ำเขียว ร่วมกับเมือง หอการค้า ภาคีเครือข่ายมากมาย คุยกับสสปน. (สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ – TCEB) เรื่องการจัดประชุมแบบเอาต์ดอร์ เรามีธรรมชาติ ก็ไม่ต้องไปสร้างคอนเวนชันขนาดใหญ่ คือทุกอย่าง ใช้คำว่า New Normal เชยไปแล้วนะ แต่ว่า Next Normal เป็น Next บนความผันผวน เพราะคุณก็ไม่รู้คุณจะเจออะไร แต่เรากำลังจะบอกว่า เมืองที่คนออกมาช่วยกันทำงาน เพราะเราเห็นปัญหา แต่เราเชื่อว่า Prevent is better than cure. เราเรียนกฎหมายนะ ป้องกันดีกว่าแก้ไข เหมือนต้องร่างสัญญากันก่อน ดีกว่ามาแก้ไขทีหลัง เพราะต้นทุนของการแก้ไขมากกว่าและยากกว่า

ปัญหาของเขาใหญ่ที่มีมาตลอดคืออะไร?

               น้ำ รถติด ขยะ อย่างที่คอนเสิร์ตมันใหญ่มาก จัดมากี่ครั้งแล้ว 12 ปี ยังพูดเรื่องเดิมเลย ขยะล้น รถติด ปีที่ผ่านมาคนเป็นแสนเลยนะ แล้วคนที่ไม่เข้างานอีกล่ะ พ่อแม่ผู้ปกครองมาส่งลูก คูณสามเลย สมาคมฯ เราจัดจุดจอดรถฟรีไว้ให้ เราเซอร์เวย์ตัวต่อตัว รู้เลยว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นยังไงบ้าง แล้วเราก็เป็นคนทำจดหมายเปิดผนึกถึงชาวโลกว่าไม่ไหวนะคะ ดิชั้นเรียกร้องไปยังสปอนเซอร์ ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ถ้าคุณพูดเรื่อง ESG (Environmental, Social, and Governance กรอบแนวคิดใน 3 มิติขับเคลื่อนภาคธุรกิจให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน) คุณดูเรื่องนี้ก่อน เวลาคุณจะให้สปอนเซอร์งานใดๆ คุณต้องดูด้วย ไม่ใช่คิดแต่จะจัด จัดแล้วเกิดขยะ เกิดมลพิษ จัดการอะไรไม่ได้เลย แล้วก็เหมือนคนปากช่องคนเขาใหญ่ปล้นนักท่องเที่ยว ก็เสียชื่อเสียง คือในแง่รายได้ มันได้แหละ แต่คุ้มเสียมั้ย ไม่ได้บอกว่าไม่ให้จัดนะ อยากให้จัด แต่จัดอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช่คิดแต่จะประหยัดต้นทุน จัดอย่างมีส่วนร่วม เชื่อมั้ยว่า ผลจากการจัดครั้งล่าสุดและจดหมายเปิดผนึก เสียงร้องเรียนต่างๆ จังหวัดต้องตั้งคณะกรรมการ 6 เดือนล่วงหน้าก่อนจัดงานครั้งต่อไป เพราะมันส่งผลกระทบมหาศาล เราก็คุยกับน้องๆ ที่จัดงานคอนเสิร์ตใหม่ๆ ต้องลดการใช้พลาสติก ใช้ถ้วยชามรามไหที่ย่อยสลายได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะขึ้นอุทยานฯ ตอนนี้ใช้โฟมกับพลาสติกไม่ได้อยู่แล้ว เรารณรงค์เรื่องการใช้ปิ่นโต ทำแคมเปญ “Pinto Go Round!” ให้คนมารับปิ่นโตไปใช้ใส่อาหารพกไปพกมาขึ้นอุทยานฯ หรือใส่อาหารใส่ขนมที่ร้านในเขาใหญ่หรือในตัวเมืองปากช่อง ลดการใช้ถุงพลาสติก ใช้เสร็จก็มาคืนที่จุดทางเข้าอุทยานฯ หรือตามร้านต่างๆ คือในชุมชนเราต้องกำหนดคอนเวนชันร่วมกัน เหมือนธรรมนูญแห่งชุมชน ว่าเวลาคุณจะมาจัดงาน ต้องทำเรื่องนี้ๆๆ เพราะ Polluter Pays Principle ใครทำเสียคนนั้นจ่าย อันนี้หลักการ ไม่ใช่แค่กระแสนะ เป็นเรื่องที่ต้องทำ

ผู้ประกอบการในเขาใหญ่เป็นอย่างไร?

               คือทรัพยากรที่มีค่ารองจากเขาใหญ่ คือ คน คนเขาใหญ่นี่ของแข็ง เขามาประกอบธุรกิจที่นี่ด้วยอาการปล่อยของ ทุกคนทิ้งทวน เราเองก็เหมือนกัน เรามองเขาใหญ่เป็นเรือนตาย แล้วร้านเราพนักงานมีอายุก็หลายคนนะ พื้นที่ที่เหลืออยู่จะทำบ้านพักคนชรา เรามองว่า ถ้าแก่ คุณเดินทางไม่ได้แล้ว คุณมาอยู่ แต่คนวัยเดียวกันอยู่ด้วยกันไม่รอดนะ ต้องมีคนช่วยคุณน่ะ เพราะฉะนั้น เป็นลาวคือสังคมทดลอง เรามีคนสามวัยทำงานที่ร้าน มีประชากรสูงอายุ 70 อยู่หลายคนที่ยังทำงานอยู่ข้างหลัง มีเด็กนักเรียน ปิดเทอมเราก็มีเด็กหูหนวก มาทำงานด้วยกัน

อุปสรรคในการทำงานพัฒนาเมือง

               ถ้าพูดตรงๆ นะ ภาครัฐ very slow โดยเฉพาะบริบทของเขาใหญ่ กี่วิกฤติมาแล้ว เอาง่ายๆ ถ้าภูเก็ตไม่มีกลุ่มนักธุรกิจที่ลุกขึ้นมาทำ Sandbox หรือคนที่คิดเคลื่อนเมืองแบบนี้ ก็ไม่มีโพรเจกต์นี้ขึ้นมา เพราะอะไร เพราะมันดิ้นรนจนถึงขีดสุดแล้ว จะไปรอแต่ภาครัฐไม่ได้ โอเค ก็มีกลุ่มคนที่บอกว่าเป็นหน้าที่ของรัฐ แต่เราบอกไม่ใช่ ไฟกำลังไหม้บ้าน คุณไปรอเรียกรถดับเพลิงอย่างเดียวไม่ได้ คุณมีตุ่มมีอะไรต้องมาช่วยกันก่อน จะปล่อยให้เสียหายตรงหน้าก็ได้ แต่คุณอย่าลืมว่า คุณเองก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เพราะฉะนั้น พอเรามีบทเรียนจากช่วงโควิด เราได้กลุ่มอาสาสมัคร ได้น้องๆ มา เตรียมเคลื่อนต่อ เราตั้งกลุ่มชื่อว่า “ใจใหญ่” เป็นกลุ่มเคลื่อนเพื่อสังคมในชุมชน เป็นโมเดล อย่างเราสนับสนุนแอปพลิเคชันรถประจำท้องถิ่น ชื่อ โตโกะ (Toko SuperApp) เป็นเด็กหนุ่มรุ่นใหม่อยู่ในปากช่องเรา เพราะเขาใหญ่มีข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง คือถ้านั่งรถไฟมา กว่าจะต่อรถมาถึงร้านเป็นลาว (ถนนธนะรัชต์ กิโลเมตรที่ 21) คือชาตินึง ปัญหาอยู่ที่โลจิสติกส์ ตอนช่วงโควิดเราก็เคยไปขอให้แกร็บ ให้บริษัทใหญ่ๆ เคลื่อนมาจัดส่งดิลิเวอรี เขาไม่มา เพราะไม่คุ้มค่าการลงทุน ก็เห็นใจเขานะ ในแง่ของการพัฒนาเมือง จึงจำเป็นต้องมีเรื่องระบบการจัดการขนส่ง ภาคประชาชนที่ช่วยกัน เราเอาโจทย์ของชุมชนเป็นตัวตั้งก่อนว่า นอกจาก What’s next? แล้ว คือ What’s need?

อะไรคือสิ่งที่เขาใหญ่ต้องการในตอนนี้?

               ถ้ามองในแง่การท่องเที่ยว คือการเชื่อมต่อของการเดินทาง เพราะกลายเป็นว่าคนที่มาเขาใหญ่ต้องมีรถมา เราพูดเรื่องต่อไป คือรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ใช่แค่กระแส สถานประกอบการต้องติดตั้งจุดชาร์จ EV เราพูดเรื่องการใช้พลังงานสะอาด พลังงานแสงอาทิตย์ เราก็ส่งเสริม ต้องลงทุนนะ เราจัดให้สถาบันการเงินมาปล่อยเงินกู้ Green Loan เรื่องขยะ เราใช้วัสดุที่ย่อยสลาย มีการแยกขยะ เอาขยะเปียกไปทำจุลินทรีย์ EM มีคนมารับขยะเปียกจากเราไปให้หมูกินนะ แต่เราไปรอภาครัฐอย่างเดียวได้มั้ย ไม่ได้ โอเค อำเภอปากช่องประกาศเป็นสมาร์ตซิตี ถามว่าสมาร์ตซิตีแล้วยังไงต่อ มันสมาร์ตตรงไหน สมาร์ตอย่างไร แต่ว่า หน้าที่เราไม่ใช่หน้าที่บ่น เราเป็นนักปฏิบัติ อยากทำอะไรทำ ตราบใดที่รับรองว่าไม่เดือดร้อนใคร ไม่เดือดร้อนตัวเอง เราพยายามให้พนักงานเราเข้าใจในงาน ไปมีส่วนร่วมกับชุมชน เด็กนักเรียนไปเก็บขยะ สนับสนุนอาหารเครื่องดื่ม รณรงค์ร้านอาหารมาช่วยกันเอาอาหารให้เด็ก คือทุกกิจกรรม ถ้าเรารู้ เราก็มีส่วนร่วมในแบบของเรา เราเป็นร้านอาหาร ก็ส่งข้าวเหนียวหมูทอดไป คือทุกคนสามารถช่วยในสิ่งที่ตัวเองถนัดหรือมีกำลัง คนชอบบอกว่า ให้บริษัทใหญ่ๆ มาช่วยสิ บริษัทใหญ่ๆ กว่าจะเคลื่อนเป็นหอยทากมา เมื่อไหร่จะถึง เพราะฉะนั้น คนที่อยู่ในสังคม ชุมชนนั้นๆ รู้บริบท รู้ปัญหาของตัวเองอยู่แล้ว คุณต้องลงมือทำ เอาง่ายๆ อย่างเรื่องช้าง ทุกวันนี้ช้างก็ลงมาเดิน ตัว สองตัว สามตัว มีอาสาสมัครหน่วยผลักดันช้างตั้งอยู่ที่วัดหมูสี ก็ช่วยกันเป็นคณะกรรมการ ช่วยกันดู เขาต้องจ่ายค่าน้ำมันไปไล่ช้างเอง เพราะเจ้าหน้าที่อุทยานฯ มีไม่พอ คือมันเหมือน คุณสนใจเรื่องอะไร คุณทำไป ถ้าภาครัฐหรือหน่วยงานการปกครองท้องถิ่นเคลื่อนช้า ภาคเอกชนก็ต้องจับมือกันให้เหนียวแน่น ช่วยกันเคลื่อน ช่วยกันทำ คนละนิดละหน่อย เดี๋ยวมันก็เคลื่อนโลกได้เอง

มองภาพเขาใหญ่ในอนาคตอย่างไร?

               ถ้าเราก่อร่าง Green Business แนวทางชีวิตสีเขียวกันได้ เชื่อว่าเขาใหญ่จะเป็นที่พึ่งทางด้านสิ่งแวดล้อม และเป็นตัวอย่างของการท่องเที่ยวที่ดีได้ ถ้าคนรุ่นเรายังไม่หมดแรงนะ แล้วเราสร้างเด็กรุ่นใหม่มาทันนะ คำว่า สร้าง คือ สร้างแรงจูงใจ สร้างแรงบันดาลใจให้เขาเข้ามาแล้วได้ คือเชื่อมช่องว่างของเจเนอเรชัน อย่างที่ทำเรื่อง “ยังเขาใหญ่” หรือน้องจ๋า (ปวีนา เชี่ยวพานิช) ที่ร้าน EL Café เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม แล้วมีเด็กรุ่นใหม่ที่เป็นแบบนี้เยอะ เพียงแต่ว่าการที่เขาไม่ได้เป็นสมาชิกชมรมใดๆ ก็ไม่ใช่ความผิดของเขา เพราะในเจเนอเรชันเขามันเป็นแบบนั้น คือดูเหมือนว่า สมาคม ชมรม เป็นเรื่องของผู้หลักผู้ใหญ่ แต่จริงๆ ทั้งใช่และไม่ใช่ เพราะฉะนั้น แนวคิดในการเคลื่อนต่อ ก็ต้องเตรียมจดวิสาหกิจเพื่อสังคมของสมาคมฯ ทำองค์กรคู่ขนาน เพื่อให้ยั่งยืน เพราะทุกวันนี้สมาคมฯ ได้รับเงินค่าสมาชิกปีละ 1,000 บาท ซึ่งน้อยมาก คนมาทำงานพวกนี้ถึงต้องจิตอาสา แต่เราไม่ได้อยากเอาเงินเป็นตัวตั้งอย่างเดียว ควรจะต้องทำให้เกิดการมีส่วนร่วมเหมือนเป็นอาสาสมัคร ซึ่งงานอาสาสมัครไม่มีหัวหน้านะ คนนี้ออกไป คนนั้นมาแทน เพราะเราพบ Secret Recipe ว่า จำเป็นต้องมีคนนำทัพให้เคลื่อนไป เหมือนคุณต้องเป็นจ่าฝูง ไม่งั้นทัพแตกกระสานซ่านเซ็น ก็อย่างที่บอก 2 สมาคม 28 ชมรม มาจับมือกัน ส่งแรงไปช่วยเรื่องนี้ๆๆ ในฐานะที่เราเป็นหนึ่งหน่วยของสังคมและชุมชน ใครอยากทำอะไร ก็ทำต่อไป โดยที่ยังคงเชื่อมโยงกันได้ ไม่ทะเลาะกัน เข้าใจเคารพความแตกต่างหลากหลาย คนทำงานชุมชนเจ็บปวดทุกคน แต่ทำ เพราะคุณทำในสิ่งที่คุณเชื่อไง คุณยังอยู่ในเมืองที่คุณยังมีโอกาสฝัน ยังอยู่ในชุมชนที่คุณอยากเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้น เราบอกอยู่เสมอว่า ไม่ใช่ใคร เรานี่แหละ คือ Change Agent

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย