/

เราจะไม่ทำให้ชาวบ้านขายของได้ เพียงเพราะผู้ซื้อรู้สึกสงสาร แต่ต้องเกิดจากที่ผู้ซื้อตระหนักถึงมูลค่าของผลิตภัณฑ์นั้นจริงๆ

Start
385 views
15 mins read

“เราแค่อยากกลับมาอยู่บ้าน ตอนแรกก็ไม่รู้หรอกว่าจะกลับมาทำอะไร เราเรียนจบศิลปะ (ศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย – ผู้เรียบเรียง) และทำงานสายครีเอทีฟตั้งแต่เรียนจบ ย้อนกลับไปเมื่อราว 10 ปีที่แล้ว เรานึกไม่ออกเลยนะว่าทักษะทางวิชาชีพที่มี จะไปประกอบอาชีพอะไรในยะลาได้

เราเริ่มอาชีพใหม่ในบ้านเกิดของตัวเองด้วยการร่วมกับน้องสาวเปิดร้านอาหารกึ่งคาเฟ่ชื่อ Living Room ที่เลือกทำร้านก็เพราะเราทั้งสองคนชอบทำอาหาร และเห็นว่ายะลายังไม่มีร้านที่นำเสนอไลฟ์สไตล์ร่วมสมัยแบบนี้ด้วย ขณะเดียวกันก็เป็นรูปแบบหนึ่งของงานครีเอทีฟที่เราถนัดด้วยเช่นกัน ทั้งการทำสไตล์ลิ่ง การออกแบบเมนูอาหาร และอื่นๆ และอาจเพราะเหตุนี้ ร้านเราจึงได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี ซึ่งหลังจากทำร้านได้สักพักจนร้านอยู่ตัว เราก็พอมีเวลาไปทำอย่างอื่น

พอดีอีกกับที่วันหนึ่งเมื่อราวๆ 4-5 ปีก่อน มีผู้ชายชาวมุสลิมคนหนึ่งมาหาเราที่ร้าน เราไม่รู้จักกันมาก่อน เขาบอกว่าเขามีลูกสิบกว่าคน งานที่ทำอยู่ตอนนี้มีรายได้ไม่พอเลี้ยงคนในครอบครัว เขาอยากขายข้าวเหนียวไก่ทอด แต่ทำยังไงก็ไม่อร่อย และอยากให้เราช่วยเขา

ตอนแรกก็งง เราไม่เคยขายข้าวเหนียวไก่ทอด จะช่วยเขาได้อย่างไร แต่เห็นว่าเขาอยากให้เราช่วยจริงๆ ก็เลยนัดให้เขามาอีกวัน ชวนเขาลองปรับสูตรไก่ทอดด้วยกัน จากนั้นเราก็ออกแบบบรรจุภัณฑ์และแบรนด์ดิ้งของร้านให้เขา พอทำเสร็จ เขาก็สามารถเอาไปเปิดร้านเอง จากนั้นก็เหมือนการบอกกันปากต่อปาก มีคนมาให้เราช่วยคิดเรื่องการพัฒนาสินค้าให้อีก ตรงนี้แหละที่ทำให้เราตระหนักว่าที่ผ่านมาเมืองเราขาด creative economy คือแม้จะมีต้นทุนดี แต่คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ก็ไม่รู้วิธีจะนำเสนอหรือยกระดับสิ่งที่พวกเขามีอย่างไร

ยะลาไอคอน (Yala Icon) มีที่มาเช่นนี้ ผู้ประกอบการเขามีผลิตภัณฑ์ของตัวเองอยู่แล้ว ส่วนเราเข้าไปเรียนรู้ และใช้ทักษะทางการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ไปช่วยพัฒนาสินค้าร่วมกับเขา หัวใจสำคัญคือ เราจะไม่ทำให้ชาวบ้านขายของได้ เพียงเพราะผู้ซื้อรู้สึกสงสาร แต่ต้องเกิดจากที่ผู้ซื้อตระหนักถึงมูลค่าของผลิตภัณฑ์นั้นจริงๆ

ยะลาไอคอนตอบโจทย์ชีวิตการทำงานที่ยะลาให้กับเรามาก จากที่เคยคิดว่าคงไม่ได้ทำงานครีเอทีฟในยะลาเท่าไหร่ กลับกลายเป็นว่าเราได้กลับมาทำสิ่งที่เราชอบ ถนัด และอยากทำอยู่แล้ว แถมยังได้ช่วยเหลือคนในพื้นที่อีก เราทำยะลาไอคอนจนเป็นที่รู้จักประมาณหนึ่ง และมีโอกาสไปร่วมแสดงผลงานในเทศกาลด้านความคิดสร้างสรรค์ที่เมืองอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งพอออกงานที่อื่นอยู่หลายครั้ง ก็มาแอบคิดน้อยใจว่าทำไมยะลาของเราถึงไม่มีงานแบบนี้จัดขึ้นบ้าง

ก็พอดีกับทางศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรกำลังทำโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ โดยร่วมกับเยาวชนในพื้นที่จัดทำนิทรรศการบอกเล่าแง่มุมต่างๆ ของเมืองในชื่อ ‘ยะลาสตอรี่’ โดยทางศูนย์ฯ ชวนให้เรามาร่วมโครงการในฝั่งครีเอทีฟ รวมถึงชักชวนเครือข่ายต่างๆ มาร่วมงาน แน่นอน เรายินดีช่วยเต็มที่ เพราะเราเห็นว่ายะลามีของดี แต่เราแค่กลุ่มเดียวก็ไม่สามารถผลักดันสิ่งนี้ออกไปได้ เมื่อมีคนมาช่วย มีเครือข่ายมาร่วมด้วย เทศกาลทางความคิดสร้างสรรค์ของเมืองที่เราฝันอยากเห็นมาตลอดจึงได้ฤกษ์เกิดขึ้นเสียที


ผลจากงานครั้งนั้น ไม่เพียงทำให้เรารู้จักยะลาในแง่มุมใหม่ รวมถึงแง่มุมที่เราอาจหลงลืมไปแล้ว ยังทำให้เรามั่นใจอีกว่าเราสามารถเปิดครีเอทีฟสตูดิโอที่เมืองบ้านเกิดของเราได้ เราพบว่ามีนักออกแบบ ครีเอทีฟ รวมถึงคนทำงานด้านสื่อรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยอยากกลับมาทำงานที่บ้านเกิดของตัวเอง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการหลายๆ คน รวมถึงหน่วยงานรัฐ ก็เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการยกระดับสินค้าและบริการด้วยความคิดสร้างสรรค์ โดยเราสามารถเป็นตัวกลางเชื่อมสองฝั่งนี้ให้เข้าหากันได้

ทุกวันนี้เราเปิดสตูดิโอครีเอทีฟที่ชื่อว่า SoulSouth Studio โดยรวมทีมกับน้องๆ ที่จบศิลปะจาก ม.อ.ปัตตานี ซึ่งก็เป็นทีมที่อยู่เบื้องหลังงานออกแบบของยะลาสตอรี่ด้วย นอกจากจะใช้ทักษะที่เชี่ยวชาญช่วยเหลือผู้ประกอบการ เรายังหวังให้ออฟฟิศเล็กๆ แห่งนี้ เป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองยะลา ขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะอย่างสร้างสรรค์ รวมถึงมีส่วนเพิ่มและยกระดับพื้นที่การเรียนรู้ให้กับเมือง

เราเชื่อว่ายะลาจะพัฒนาได้มันต้องเกิดจากการร่วมมือกันของคนหลากรุ่น เมื่อเมืองเกิดการพัฒนาและมีความน่าอยู่ มันจะดึงดูดให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ และเมื่อเศรษฐกิจดี เมืองก็จะตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้คน เรามองภาพไกลๆ ให้คนรุ่นใหม่มองยะลาอย่างที่เราเห็น มองเห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในเมืองเมืองนี้ มองเห็นถึงความเป็นเมืองที่คนรุ่นใหม่อยู่ได้ และสามารถทำงานที่ตอบโจทย์ความฝันของพวกเขาไปพร้อมกัน”  

เอกรัตน์ สุวรรณรัตน์
นักออกแบบ ครีเอทีฟงาน
Yala Stories และผู้ก่อตั้ง SoulSouth Studio
https://www.facebook.com/SoulSouthStudio

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย