/

“แทบจะไม่มีเมืองไหนที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะจะกลายเป็นศูนย์กลางเมืองเหมือนที่เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์เลยนะครับ”

Start
177 views
15 mins read

“ผมเป็นผู้อำนวยการสำนักการศึกษา เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ นอกจากดูแลโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กในสังกัดเทศบาลแล้ว พันธกิจของเราคือการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้กับคนทุกวัย เช่น ตลาดนัดที่มีพื้นที่กิจกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน หอศิลป์เมืองกาฬสินธุ์ที่เป็นพื้นที่จุดประกายด้านศิลปะ หรือโรงเรียนผู้สูงอายุ ที่มีหลักสูตรการเรียนรู้สำหรับคนสูงวัย และกิจกรรมให้พวกเขาได้ผ่อนคลาย เป็นต้น

ผมไม่เคยคิดมาก่อนว่ากาฬสินธุ์พร้อมด้วยคุณสมบัติของเมืองแห่งการเรียนรู้ เพิ่งมารู้ก็เพราะเมื่อทางอาจารย์จากมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์มาสร้างความร่วมมือขับเคลื่อนกลไกเมืองแห่งการเรียนรู้นี่แหละ คือเราก็ทำของเรามาเรื่อยๆ จนทางมหาวิทยาลัยเอาหลักวิชาการเข้ามา และเชื่อมโยงกิจกรรมการเรียนรู้กับชุมชนต่างๆ จนพบว่าทางเทศบาลกับมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์มีเป้าหมายเดียวกัน

อย่างงานตลาดสร้างสุขที่จัดทุกเย็นวันอังคารและพฤหัสบดีรอบหอศิลป์เมืองกาฬสินธุ์ ที่เทศบาลร่วมเป็นเจ้าภาพ นายกเทศมนตรีท่านยังมอบหมายงานนี้ให้กับสำนักงานผม ซึ่งดูไม่น่าจะเกี่ยวข้องอะไรกับการทำตลาดเลย แต่อย่างที่บอกว่ากาฬสินธุ์เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ กระทั่งตลาดนัดก็ยังเป็นพื้นที่เรียนรู้ได้เลย

อาจเป็นเพราะเมืองกาฬสินธุ์เราไม่ได้มีสถานที่ท่องเที่ยวเด่นๆ มากนัก การมีถนนคนเดินในรูปแบบตลาดนัด จึงกลายมาเป็นที่พบปะของผู้คนในเมือง เป็นที่ทำกิจกรรม และพักผ่อนร่วมกัน อย่างสมัยก่อน เทศบาลเขาพยายามจัดพื้นที่เรียนรู้ที่สวนสาธารณะริมแก่งดอนกลาง มีการจัดกิจกรรมและทำห้องสมุดเล็กๆ ในศาลาด้านหน้าสวนสาธารณะ แต่ปรากฏว่าไม่ค่อยมีคนมาใช้บริการเท่าที่ควร ส่วนใหญ่จะมาวิ่งหรือนั่งเล่นที่สวน จนย้ายพื้นที่เรียนรู้มาจัดในตลาดนี่แหละ เด็กๆ มาใช้พื้นที่จริงๆ หรือผู้ใหญ่ก็หยุดนั่งฟังเสวนาบนเวที พร้อมแลกเปลี่ยนมุมมองอีกด้วย 

ขณะเดียวกัน นอกจากการทำตลาดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ อีกเรื่องที่ผมคิดว่าเมืองของเราไม่เหมือนที่ไหน คือการมีหอศิลป์เมืองกาฬสินธุ์ เป็นแหล่งนัดพบ และทำกิจกรรมเกี่ยวกับเมืองร่วมกันของประชาชน เพราะแทบจะไม่มีเมืองไหนที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะจะกลายเป็นศูนย์กลางเมืองได้เท่าเราเลยนะครับ

ส่วนที่มาของหอศิลป์แห่งนี้เกิดจากที่จังหวัดได้ถ่ายโอนอาคารศาลากลางหลังเก่าให้ทางเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ดูแล ชั้นบนทางวัฒนธรรมเขาทำพิพิธภัณฑ์ของดีเมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นพื้นที่เรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์ไว้แล้ว นายกเทศมนตรี (จารุวัฒน์ บุญเพิ่ม) ท่านก็อยากทำพื้นที่ชั้นล่างให้ดึงดูดคนรุ่นใหม่เข้ามาด้วย และก็พอดีกับที่ท่านรู้จักเครือข่ายศิลปินร่วมสมัยท้องถิ่น ก็เลยชวนกันจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปะขึ้น โดยกองการศึกษาของผมได้รับมอบหมายให้ดูแลพื้นที่แห่งนี้

หอศิลป์เราจะจัดแสดงนิทรรศการศิลปะของศิลปินท้องถิ่น รวมถึงศิลปินชั้นนำในไทยไปจนถึงระดับนานาชาติ อย่างล่าสุดศิลปินจากลาวและเวียดนามก็มาจัดแสดงงานที่นี่ ก็คิดว่าต่อไปน่าจะเป็นศูนย์กลางศิลปะระดับภูมิภาคได้

นิทรรศการจะหมุนเวียนทุกเดือน ส่วนใหญ่จะเป็นนิทรรศการกลุ่มที่มีธีมเนื้อหาเดียวกัน ต่อหนึ่งนิทรรศการจะจัดแสดงอย่างน้อยหนึ่งเดือน พอหมดนิทรรศการหนึ่ง ก็จะปิดเพื่อเตรียมนิทรรศการใหม่ราว 2 สัปดาห์ หมุนเวียนไปแบบนี้ ปีหนึ่งก็จะมีงานให้ดูราว 6 นิทรรศการ ทางกองการศึกษาก็ได้งบจากเทศบาลมาจัดงาน ทั้งการขนส่งงานศิลปะ การติดตั้งไปจนถึงทำพิธีเปิด ขณะที่คณะกรรมการหอศิลป์ฯ จะเป็นฝ่ายคัดสรรผลงานของศิลปินมาจัดแสดง

ผมหวังให้หอศิลป์แห่งนี้ช่วยสร้างระบบนิเวศทางศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยให้กับเมือง มันอาจช่วยจุดประกายให้คนรุ่นใหม่เห็นถึงโอกาสใหม่ๆ และกลับมาทำธุรกิจที่มีรูปแบบร่วมสมัยให้กับเมือง เพราะต้องยอมรับว่าหลายปีที่ผ่านมา กาฬสินธุ์เป็นเมืองสมองไหล เด็กนักเรียนเรียนจบไป ก็ไปต่อระดับอุดมศึกษาที่กรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่อื่นๆ พอเรียนจบเขาก็หางานทำที่นั่นเลย เพราะกาฬสินธุ์ไม่ได้มีงานรองรับคนรุ่นใหม่เพียงพอนอกจากงานราชการ คือถ้าระบบนิเวศด้านนี้มันเข้มแข็ง คนรุ่นใหม่อาจจะอยากกลับมาลงทุนอะไรใหม่ๆ ในบ้านเกิดเขาบ้าง

ผมเกิดและโตที่กาฬสินธุ์ รู้สึกโชคดีที่ได้ทำงานอยู่ที่บ้านเกิด ถึงเมืองมันค่อนข้างเล็กและไม่มีอะไรหวือหวา แต่ก็มีทุกอย่างครบถ้วนดี และไม่มีบรรยากาศของการแข่งขันแบบเมืองใหญ่ๆ แต่อย่างที่บอกว่าเมืองมันต้องการพลังงานสร้างสรรค์จากคนรุ่นใหม่อีกเยอะ ทุกวันนี้กาฬสินธุ์มีความน่าอยู่ ผู้คนมีความสุข และเราก็มีต้นทุนทางศิลปวัฒนธรรมและธรรมชาติอยู่มาก ถ้าคนรุ่นใหม่กลับมาในเมืองมากขึ้น เมืองจะมีสีสันกว่านี้ และดึงดูดให้เกิดการลงทุน เสริมเศรษฐกิจเมืองมากกว่านี้เช่นกัน”   

กันติพงษ์ เบ้าจังหาร
ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย