/

“สังคมเขาใหญ่น่าอยู่นะ คุณภาพชีวิตดี อยู่ที่นี่ ไม่รู้คนอื่นเครียดมั้ย แต่เราไม่เครียด”

Start
182 views
28 mins read

“เรามีประสบการณ์ด้านการตลาดมา เมื่อตัดสินใจเบนเข็มจากโลกที่เป็นเอกชน เป็นลูกจ้าง เป็นแบรนด์ มาทำเกษตร มันพลิกเลย สิ่งแรกไม่ใช่เปลี่ยนเลย ต้องค่อยๆ เปลี่ยนก่อน ต้องแน่ชัดว่าเราจะกระโดดมา แล้วสิ่งสำคัญคือ ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เราประสบความสำเร็จในอดีต จะทำให้มาทำเกษตรแล้วจะประสบความสำเร็จเหมือนกัน มันไม่มีอะไรแน่นอน ดังนั้น เราต้องลืมไปเลยว่าเราเคยเก่งอะไร เคยมั่นใจอะไรมา ถึงจุดที่เราต้องตัดเป็น แล้วมองให้สว่างว่า นี่คือโลกใหม่ โลกเกษตร

แต่ในการประสบความสำเร็จ ทุกอย่างมี Key Success Factor คล้ายๆ กัน เรื่องของคุณสมบัติในการเป็นผู้ประกอบการ จะเป็นธุรกิจแบบคอมเมอร์เชียล แบบตะวันตก กับเกษตรแบบบ้านๆ ต้องมีบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน ดังนั้น เราใช้ตรงนั้นมาเริ่มต้น วิธีการมอง ไม่ใช่ว่าเรามีอะไรที่ไร่เรา แล้วเราจะทำอะไรดี ทำไปก่อนแล้วขาย แต่ต้องมองเห็นว่า เราต้องการเป็นอะไรในอีก 1 ปี 3 ปี 5 ปีข้างหน้า ต้องมีการวางแผนล่วงหน้าอย่างสมบูรณ์ รู้ว่าจุดนี้เราต้องได้ประมาณนี้นะ เพราะไม่ว่าจะทำเกษตร จะเริ่มเป็นออร์แกนิก จะกลับมาบ้านเกิด สิ่งสำคัญที่สุด คุณต้องมีรายได้ (เน้นเสียง) คืออยู่ได้อาจจะไม่พอ คุณต้องมีสำรองเลี้ยงชีพในการใช้ชีวิตตอนแก่ การจะบอกว่าอยู่พอมีพอกินมันไม่ใช่เรื่องจริง ในความจริงคุณจะมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเหมือนปกติขณะที่คุณทำงาน พ่อแม่ทุกคนแก่ขึ้นรวมทั้งตัวเรา ค่าใช้จ่ายจะมาขึ้นแบบที่เราไม่เคยคิด เราต้องมองเห็นภาพเหล่านี้ให้ชัด แล้วจะรู้เลยว่าต้องการใช้เงินเท่าไหร่ เราจะไม่มีทำไปเรื่อยๆ พอเราเข้าใจแล้ว ความเร็วคือสิ่งสำคัญ เราช้าไม่ได้ เพราะเราอายุมากแล้ว ไม่ทันกิน เมื่อก่อนตื่นแปดโมงครึ่ง เบื่อการทำงาน ตอกบัตร ตอนนี้ตื่นเช้ากว่าเดิม ถามว่าเมื่อก่อนเราแข่งกับใคร แข่งกับคู่แข่งทางธุรกิจ แต่วันนี้ สิ่งที่ต้องแข่ง คือสิ่งที่คุณควบคุมไม่ได้เลย คือธรรมชาติ ตื่นมา พระอาทิตย์ไม่ทันละ แสงแดด ตัดต้นไม้ นี่คือจุดที่เราต้องเข้าใจธรรมชาติ ว่ามีความไม่แน่นอน คุณต้องยอมรับกับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น ต้องเผชิญกับมัน ไม่กลัว ไม่หนี สิ่งที่เราไม่รู้ ก็เรียนรู้

ทีนี้เราต้องมองเห็นว่า ในอนาคต อะไรคือตลาดของเรา เช่น ลูกค้าสุขภาพ ลูกค้าสูงวัย ลูกค้าไม่ชอบใช้สารเคมี แต่ถามว่าลูกค้าเหล่านั้นจะมาออร์แกนิกจ๋า เดินเข้ามาบ้านๆ แล้วซื้อมั้ย ไม่ใช่ ทุกคนเขามีสเตตัสของตัวเอง เราจับลูกค้าเราชัดเลยว่าคือ B to A ลูกค้ากลุ่มบนที่เขาเชื่อมั่นในสินค้า เราเริ่มจากเบสิกง่ายๆ เจ้านายเก่าบอกว่าว่านหางจระเข้เป็นราชินีสมุนไพรนะ เลี้ยงง่าย เราก็ เออ จะเลี้ยงให้ยากทำไม ไปปลูกสิ่งที่ง่าย สำเร็จเดี๋ยวต่อยอดได้เอง เพราะฉะนั้นเรารู้ว่าว่านหางจระเข้ไปได้ไกล ที่สำคัญคือเรามีแพสชันกับมัน ชอบกิน เราปลูกแล้วเอามาทำวุ้นว่านหางจระเข้ ผสมน้ำผลไม้สกัดเย็นตามฤดูกาล เช่น เสาวรส เป็นตัวที่ทำให้เรามีชื่อเสียง ตอนแรกทำให้ที่บ้านกินก่อน พ่อแม่เจ็บป่วยก็กินว่านหางจระเข้ ถวายพระ แจกจ่ายญาติพี่น้อง ทุกคนบอกอร่อย กลับมาซื้อของเรา แล้วเราก็สื่อสารว่าดีอย่างไร เราใช้ของดี ใช้น้ำผึ้งแทนน้ำตาล จากนั้นก็เอาว่านหางจระเข้มาดัดแปลงทำเครื่องสำอาง เริ่มจากสเปรย์ฉีดหน้า ทำผม คืออะไรก็ได้ที่ใกล้ตัว คนต้องใช้ หน้า ผม ตัว ดัดแปลงไปเรื่อยๆ ก็ประสบความสำเร็จระดับที่ว่า คนรู้จัก มีการซื้อซ้ำ

จากนั้นเราก็มองตัวถัดไป ต้องเป็นสิ่งที่มี และเจ๋ง เรามีต้นอะโวคาโดที่ใครๆ ก็รอกิน แทนที่จะขายต้นนึง เป็นผลได้เงินห้าหมื่นบาท ดัดแปลงทำเป็นน้ำมันอะโวคาโด อาจจะได้ประมาณสองแสน แต่ถ้าเราขายหมดสองแสน ก็จบ เราก็เอาน้ำมันอะโวคาโดมาทำเป็น By Product เข้ากับสินค้าเรา สามารถสร้างมูลค่าได้มากขึ้นและยาวนาน แปลว่าน้ำมันอะโวคาโดจากต้นในไร่โชตวัน สามารถเลี้ยงชีพไร่เราได้ทั้งปี คือผลสุกเราก็ยังขายอยู่ แต่น้อยมาก ต้องแบ่งส่วน พูดตรงๆ แค่บอกลูกค้า เขาซื้อแน่ เพราะอร่อยมาก บางคนจบละ งั้นไปปลูกอีกๆ แต่กว่าจะได้ต้นนึง กี่ปี โอเค เราอาจจะได้ห้าหมื่น ไปเป็นต้นทุนในการไปสั่งบีบน้ำมัน หรือการผลิต ต้นทุนเครื่องจักร ถ้าคนมองว่าเสียก็เสีย แต่มันคือการลงทุน แล้วแต่มุมมองไงคะ พอเราลงทุน ได้น้ำมันอะโวคาโดไปขายได้มาสองแสน คนมาซื้อ ดีใจ บางคนก็จบแค่นั้น เราก็เคยคิดจะทำแบบนั้น แต่ด้วยความบังเอิญ วันนึงเอาน้ำมันอะโวคาโดมาทาแผลที่โดนแมลงก้นกระดกกัด ปรากฏว่าหายเจ็บทันที ไม่ใช่ว่าเรารู้สึกเอง มันไม่ได้ การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ เราอ่านๆๆ ไม่ใช่อ่านแค่ในข่าวเมืองไทย ถ้าพออ่านภาษาอังกฤษได้ ต้องศึกษาสื่อต่างประเทศ ข้อมูลงานวิจัยต่างประเทศ ถามผู้เชี่ยวชาญ ข้อมูลให้รอบด้าน ดูว่าคนอื่นที่ทำน้ำมันอะโวคาโด เขาสื่อสารยังไง จนชัวร์ว่าออกสินค้าไปไม่โดนด่าแน่ ก็กลับมาโมเดลเดิมคือแจกจ่าย ทดลอง พอของมันดี มันปังเอง

แรกๆ มาทำเกษตร อุ้ย ดีใจมากเลยไม่ต้องทำตัวเลขอีกแล้ว ปรากฏว่า ปลายปีที่แล้ว เชื่อมั้ยคะ ลองจับตัวเลข มันคนละฟิลนะ ตอนทำงานเป็นลูกจ้าง บริษัทรวยขึ้น ชั้นได้โบนัส แต่พอเราทำเอง ตื่นเต้น มันจะโต มันจะตก ทำธุรกิจต้องมองหลายมุม แล้วต้องรู้ว่า เดี๋ยวมันจะตกนะ ช่วงโลว์ซีซันจะขายอะไร ต้องคิดแล้วนะ ฝนตก เคยแบบยอดขายหายไปเลย 100% ถ้าคุณลงทุนไปแล้วเงินไม่กลับมา คุณจะทำยังไง โลว์ซีซันเราวางแผนเริ่มบุกตลาดออนไลน์ จากที่ไม่เคยคิดจะทำ เพราะว่าขี้เกียจทำด้วย รู้สึกยุ่งยาก กลายเป็นว่าตลาดออนไลน์ ลูกค้าเจอสินค้าที่เราสามารถขายให้ใช้ในช่วงฤดูฝน มี seasonal product ออกมาให้แมตช์กับพฤติกรรมเขา หน้าฝน ยุงเยอะ ขายยากันยุง สเปรย์หอมกันยุง ช่วงวาเลนไทน์ขายกุหลาบ ทั้งเดือนเราได้ละ

ถามว่า การวางแผนเป็นจุดอ่อนของเกษตรกรมั้ย จริงๆ เขาก็เป็นเหมือนเรา แต่เขารู้ในเรื่องของเกษตร รู้ว่าหน้าฝนต้องเก็บ ต้องปลูก แต่ว่าเขาต้องมีช่วงที่ว่าง ไม่ใช่ว่างเวลานะคะ ความคิดที่ว่าง คือทำอย่างไรเขาจะมีความคิดที่จะหยิบตรงนี้มาแต่งตัว ไม่ได้ทำได้ทุกคน คนที่จะไปช่วยเขาทำคือคนที่มีความรู้ หาเครือข่ายเพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้ ราชการเข้าไปถูกแล้ว แต่ว่ามายด์เซ็ตคือ ทำยังไงให้ดี เห็นนั่งเรียนออนไลน์กันตาแป๋วทุกคน เงินงบไม่รู้เท่าไหร่ แต่ว่าของดีแค่ไหน ใครคือลูกค้า เขาไม่รู้ว่าจะขายใคร บางทีก็ยากนะ ในความเป็นจริง จะให้ทุกคนเป็นเหมือนแมคโดนัลด์ คือเหมือนกันทุกชิ้นไม่ได้ ใครเก่งอะไร ให้เขาทำไป ที่แปรรูป คุณไปซื้อของกับเขา ก็อย่าไปกดราคาเขา สมมติเราอยากทำซีรี่ส์ข้าวหอมมะลิเอามาดัดแปลง เราคงไม่ต้องไปปลูกข้าวเอง ใครคือคนๆ นั้น ที่เราจะไปเลือกว่าทำดีที่สุด ไปซื้อกับเขา เอามาแปรรูป เขาทำตรงนั้นให้เก่ง ดีกว่ากระโดดมาสิ่งที่เขาไม่ชำนาญ จะท้อเปล่าๆ อันนี้อาจจะคิดแตกต่างจากคนอื่นนะคะ

อุปสรรคของเรา คือทำไม่ค่อยทัน เราทำเอง เป็นโฮมเมด ไม่ได้จ้างคนทำ เพราะเป็นเรื่องของคุณภาพ และการที่เราทำจากสมุนไพร จากวัสดุสด มีการเปลี่ยนแปลง เช่น บอกว่าคุณใช้อัตราส่วนเท่านี้นะ ปรากฏว่า ช่วงนี้ตัวนี้ขึ้นลง ถ้าเขาทำตามสูตร ทุกอย่างจะเปลี่ยนหมดเลย หรือน้ำเสาวรส คุณต้องเทสต์ เพราะเสาวรสคุณซีซันไม่เหมือนกัน น้ำผึ้งคุณไม่เหมือนกัน คุณภาพอยู่ตรงไหน ถามว่า ถ้าถึงจุดที่ทำไม่ไหว เราทำยังไง แต่ว่าคนที่คิดแบบเรา เขาต้องทำต่อได้ อย่างเวิร์ม ฟาร์มเมอร์ ฟาร์มไส้เดือนดิน ความที่ทำเองทุกอย่าง ลูกค้ามาแฮปปี้กับคุณภาพของเรา คนขายก็แฮปปี้ พอลูกค้ามาเยอะๆ ทำไม่ทัน ก็เริ่มติดต่อคนที่ทำเหมือนกันให้ได้ แล้วก็ไปส่งเขา คือต้องหาคนเหล่านั้นเป็นพวกของเรา ไม่ใช่ใครก็ได้ คุณภาพสำคัญ ทำธุรกิจอย่าโลภ โฟกัสสิ่งที่เราได้กำไรสูงสุด แล้วทำให้เต็มที่ ไม่จำเป็นต้องทำเยอะ และต้องบาลานซ์ ต้องมีเวลาพักผ่อน ดูแลครอบครัว ไม่งั้นชีวิตจะหายไป จะหาความสุขตรงไหน เกิดมาก็ต้องมีความสุข

พ่อแม่คนที่นี่ เราก็คนที่นี่แต่ใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เด็ก ก็เหมือนเรามาจากที่อื่นนะ แรกๆ ไม่รู้จะอยู่ได้มั้ย อาทิตย์นึงต้องกลับกรุงเทพฯ สองครั้ง ตอนนี้คือไม่อยากกลับ รู้สึกเสียดายเวลา บางทีนั่งงงๆ ว่า คนอื่นเขาอยู่ที่นี่ ทำไมเขาสโลว์ไลฟ์ นั่งกินกาแฟ เรากินแบบแก้วอะไรก็ได้ อยู่กรุงเทพฯ แก้วต้องสวย นั่งต้องดี คอสเมติกต้องครบ อยู่ที่นี่ เวลาเป็นของมีค่า แล้วความที่เราอายุมากขึ้น ยิ่งมองเห็นค่าของเวลามากขึ้น เราอยู่ที่นี่เต็มตัวประมาณ 4 ปี แบรนด์โชตวันก็ประมาณ 4-5 ปี แรกๆ ก็ค้าขายปกติ แต่พอเริ่มมาเข้าสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ อาจจะด้วยพี่เต้ (พันชนะ วัฒนเสถียร นายกสมาคมท่องเที่ยวเขาใหญ่) เก่งมาก คือความเอื้ออาทร ความช่วยเหลือ ทำให้มีความรักกับสถานที่มากขึ้น คือเราก็รักแค่บ้านเรา แต่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่ง พอมาเข้ากลุ่ม เจอกัน ออกงานบ้าง มีความรู้สึกว่าชั้นอยากทำให้เขาใหญ่โด่งดังจังเลย อยากบอกว่าชั้นเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่ ชั้นมาจากเขาใหญ่ ชั้นรู้สึกเท่ แล้วก็รู้สึกสับสนย้อนแย้งว่า เฮ้ย ทำไมคิดเหมือนตอนทำงานบริษัท เขาใหญ่เป็นแบรนด์หรือเปล่า บางทีก็ขำๆ ตัวเอง ก็รู้สึกภาคภูมิใจ เรามองแต่มุมบวกเนอะ มุมลบก็คงมีแต่เราไม่เคยมองเห็น รู้สึกว่าไม่มีประโยชน์ ทุกสังคมมีบวกและลบ ทำธุรกิจต้องมองบวก มองพันธมิตร เราอยู่แบบพอดีๆ เขาขอความช่วยเหลือมา พร้อมเราก็ช่วย ไม่พร้อมเราก็บอกไป สังคมเขาใหญ่น่าอยู่นะ คุณภาพชีวิตดี อยู่ที่นี่ ไม่รู้คนอื่นเครียดมั้ย แต่เราไม่เครียด”

ดร.โชติมา ชุบชูวงศ์
ไร่โชตวัน – แบรนด์โชตวัน Dr.Cho
เวิร์ม ฟาร์มเมอร์ ฟาร์มไส้เดือนดิน

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย