“แนวคิดที่ทำให้ผู้คนที่ยังไม่อิ่มท้องให้อิ่มท้องก่อน เพราะถ้ายังไม่อิ่มท้อง ผู้คนจะอิ่มสมองและอิ่มใจได้ยังไง”

Start
296 views
33 mins read

Kalasin Learning Dialogue Forum
เบื้องหลังวงสนทนาขับเคลื่อนเมืองผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ลิขิต แก้วหานาม

WeCitizens พูดคุยกับ ผศ.ดร. พิมพ์ลิขิต ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และนักวิจัยในโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้กาฬสินธุ์ ถึงการจัดทำ Kalasin Learning Dialogue Forum อีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญของโครงการ ที่ทางมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ได้ชักชวนปราชญ์ชาวบ้าน ตัวแทนชุมชน รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ จัดเวทีเสวนาในประเด็นที่เกี่ยวกับเมืองหมุนเวียนไปตามสถานที่ต่างๆ ทั่วเมือง อาทิ ตลาดนัด หอศิลป์เมืองกาฬสินธุ์ สถานศึกษา ไปจนถึงพื้นที่สาธารณะต่างๆ ไปดูกันว่าวงสนทนาที่ว่า สร้างพลวัตให้เมืองเมืองนี้อย่างไร

อาจารย์มองว่ากลไกเรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้สำคัญกับกาฬสินธุ์ยังไงครับ 
มันเริ่มที่สถิติที่หลายภาคส่วนเห็นว่ากาฬสินธุ์เป็นจังหวัดที่ยากจนติดอันดับต้นๆ ของไทย เราจึงมองว่าจะทำยังไงให้กลุ่มครัวเรือนที่ยากจน กลุ่มด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง รวมถึงกลุ่มคนชายขอบที่มีค่อนข้างมาก ให้เข้าถึงโอกาสในการพัฒนา ทีนี้เราก็มาวิเคราะห์เรื่องของ pain point และ gain point ที่สำคัญของเมือง และพบว่าสิ่งที่จะทำให้กลุ่มเหล่านี้ยกระดับและเกิด social transfer เรื่องของ social mobility ต่างๆ ได้เนี่ย จำเป็นต้องมีการหนุนเสริมในเรื่องของการเรียนรู้ เพราะถ้าเกิดว่าในสมาชิกที่สามารถเปลี่ยนในเรื่องของการเรียนรู้เข้าไปได้ สถานะทางสังคมของพวกเขาก็จะดีขึ้น

เพราะเหตุนี้แพลทฟอร์มเรื่องการเรียนรู้จึงสำคัญมากๆ ดังนั้น เมืองเราจึงจำเป็นต้องมี learning space หรือพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ไปจนถึงคอนเทนต์ที่เป็นหลักสูตรท้องถิ่น และการร่วมมือภายในพื้นที่ เพื่อที่จะเปล่งศักยภาพร่วมกัน นั่นเป็นเหตุผลว่าพอ บพท. เข้ามา มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ที่มีพันธกิจเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างชัดเจนอยู่แล้ว จึงสนใจใช้เครื่องมือนี้มาช่วยขับเคลื่อนเมือง 

โครงการที่เรากำลังคุยกันอยู่นี้คือปีที่สองที่ได้ทุนจาก บพท. อยากให้อาจารย์ช่วยเล่าจุดเริ่มต้นของงานที่อาจารย์ทำในปีแรกหน่อยครับ
เราเริ่มจากสร้างเครือข่ายความร่วมมือก่อนค่ะ เดิมทีเนี่ยทางเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ก็มีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการเรียนรู้อยู่แล้ว โดยจะเป็นโปรเจกต์ๆ ไป แต่เราเห็นว่า กิจกรรมด้านการเรียนรู้จำเป็นต้องมีความต่อเนื่องให้มากที่สุด ในปีแรกเราจึงไปสร้างความร่วมมือกับทางเทศบาลและเครือข่ายต่างๆ ในการจัดกิจกรรมที่บางส่วนเขาทำกันอยู่แล้วก่อน จากนั้นเราก็มองว่าลำพังการจัดกิจกรรมผ่านภาครัฐอาจยังไม่พอ จำเป็นต้องได้มุมมองจากคนกาฬสินธุ์ทุกภาคส่วนด้วย จึงร่วมกับเทศบาลจัดกิจกรรมเสวนาที่ชวนปราชญ์ชาวบ้าน ตัวแทนชุมชน และผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ ของเมืองมาตั้งเวทีกันอย่างน้อยให้ได้เดือนละหนึ่งครั้ง เพื่อจะได้ช่วยกันแลกเปลี่ยนและกำหนดทิศทางการเรียนรู้เพื่อพัฒนาเมืองร่วมกัน ซึ่งโจทย์ของเราที่วางไว้ในปีที่หนึ่งคือเราอยากจัดกิจกรรมที่มันครอบคลุมทุกช่วงวัย

ชวนตัวแทนคนกาฬสินธุ์มาคุยกันว่าจะขับเคลื่อนเมืองยังไงดี?
โจทย์ที่สำคัญคือเมืองเรามีของดีอยู่แล้ว แต่ที่เป็นอยู่มันอาจไม่ได้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ เพราะฉะนั้นเราจึงใช้ความร่วมมือนี่แหละ ชวนคนรุ่นใหม่มาแลกเปลี่ยนด้วย และหาวิธีถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เมืองมีแก่พวกเขา เพื่อให้พวกเขาหาวิธีประยุกต์หรือสื่อสารกับคนรุ่นเดียวกันในวงกว้าง จากตอนแรกที่คุยกันในเชิงหารือ พอปีที่สอง เราก็ผลักดันเวทีนี้ให้เป็นกิจกรรมประจำสัปดาห์ของเมืองไปเลย โดยหมุนเวียนเจ้าภาพกันไป บางสัปดาห์เป็นของมหาวิทยาลัยเรา บางสัปดาห์เป็นของสภาวัฒนธรรม และ กศน. เป็นต้น

นั่นคือที่มาของ Learning Dialogue Forum
ใช่ค่ะ ส่วนเวทีที่ใช้จัดงาน นอกจากเราจะจัดกันกลางถนนคนเดิน ‘ตลาดสร้างสุข’ เพราะคนมาเดินตลาดจะได้แวะฟังและแลกเปลี่ยนความเห็นไปด้วย ก็มีภายหอศิลป์เมืองกาฬสินธุ์ด้วย บางครั้งถ้าประเด็นเกี่ยวกับผู้สูงอายุ เราก็ไปจัดกันที่โรงเรียนผู้สูงอายุของเทศบาลฯ เป็นต้น โดยทุกสัปดาห์ก็จะมีธีมแตกต่างกันไป บางสัปดาห์เป็นเรื่องหัตถศิลป์ บางสัปดาห์เป็นเรื่องแนวคิดการทำบริษัทพัฒนาเมือง บางสัปดาห์พูดถึงโปงลาง และก็ชวนคนที่มีประสบการณ์ในธีมนั้นๆ มาแชร์ประสบการณ์ 

จากการจัดเวทีที่ผ่านมา คนกาฬสินธุ์เขาสนใจประเด็นอะไรกันบ้างครับ
ที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษเลยคือเศรษฐกิจค่ะ คือเขาสนใจว่าจะทำยังไงให้ปากท้องอิ่ม หรือถ้าคุยกันเรื่องพื้นที่การเรียนรู้ เขาก็สนใจเรื่องการพัฒนาทักษะที่ช่วยสร้างอาชีพเสริม เป็นต้น อีกประเด็นที่คนให้ความสนใจกันคือ การจัดทำกองทุนกาฬสินธุ์พัฒนาเมือง เพื่อช่วยแก้ปัญหากลุ่มเปราะบางในเมือง

แต่ประเด็นที่คุยเกี่ยวกับกลไกเมืองแห่งการเรียนรู้สำหรับกาฬสินธุ์ มันอาจจะไม่ใช่การเป็นสมาร์ทซิตี้ การใช้โทเคน หรือคริปโตเคอร์เรนซี่ เหมือนเมืองใหญ่อื่นๆ แต่เป็นการเชื่อมความร่วมมือกับทุกภาคส่วนภายใต้แนวคิดที่ทำให้ผู้คนที่ยังไม่อิ่มท้องให้อิ่มท้องก่อน เพราะถ้ายังไม่อิ่มท้อง ผู้คนจะอิ่มสมองและอิ่มใจได้ยังไง  

ถามในมุมของผู้จัดเสวนา อาจารย์ไปสรรหาบุคลากรที่มาช่วยจัดเสวนาหรือจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ได้อย่างไรครับ ดังที่บอก ก่อนจะทำ Kalasin Learning Dialogue Forum อย่างเป็นทางการ เราได้ชวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเมืองมาคุยกันหลายครั้ง และนั่นทำให้พวกเราพบช่องว่างสำคัญอย่างหนึ่ง คือเมืองเราขาดนักจัดการเรียนรู้เมือง หรือ learning administrator ที่จะคอยประจำอยู่ตามพื้นที่เรียนรู้ หรือเป็นคนจัดโปรแกรมการเรียนรู้ให้กับคนในเมือง เพราะถึงเราจะได้รับความร่วมมือจาก 32 เครือข่าย และสามารถขับเคลื่อนพื้นที่การเรียนรู้ภายใต้หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนถึง 12 แห่งภายในเขตเทศบาล แต่ความที่ทุกหน่วยงานเขาก็มีภารกิจหลักที่ต้องทำอยู่แล้ว จึงพบปัญหาว่า ถึงเรามีพื้นที่ แต่เราก็ยังขาดบุคลากร มาขับเคลื่อนพื้นที่ จนทำให้เราเริ่มจากการสรรหาบุคลากรเหล่านี้ก่อน

หาจากไหนครับ
เมืองเรามีผู้ทรงคุณวุฒิหลายด้านมาก โดยเฉพาะศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ หรือพ่อครูแม่ครูด้านศิลปวัฒนธรรม ประธานชุมชนหลายท่านก็มีองค์ความรู้ที่พร้อมจะเผยแพร่ หรือนักธุรกิจจากกลุ่มหอการค้าก็เยอะ แต่ที่ผ่านมา เรายังไม่มีกลไกให้เขาเข้ามาร่วมโครงการ ก็ดึงมาจากตรงนี้พร้อมกับสร้างกลไก รวมถึงเปิดรับสมัครจากช่องทางต่างๆ ทั้งสื่อออนไลน์ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น และอื่นๆ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีมากเลย จากนั้นก็คัดเลือก และช่วยกันออกแบบกิจกรรมตามพื้นที่ต่างๆ

อีกส่วนหนึ่ง คือเราคำนึงถึงการออกแบบโปรแกรมที่สอดคล้องกับช่วงวัยและความสนใจของผู้เรียน โดยเฉพาะกับเด็กๆ และเยาวชน เราจึงร่วมมือกับกลุ่มสภาเด็กและเยาวชนของเทศบาลฯ เราโยนโจทย์หลวมๆ ไปเลยว่าลองจัดกิจกรรมเรียนรู้ที่คิดว่าเพื่อนๆ ของพวกเขาจะสนใจ โดยปล่อยให้เขาทำกันอย่างอิสระ กลายเป็นว่าเขาจัดงานโคเวอร์แดนซ์ และประกวดความหลากหลายทางเพศ มีเด็กๆ มาร่วมงานมากถึง 500 คนเลย เช่นเดียวกับที่เราไปร่วมกับชมรมผู้สูงอายุที่ให้เขาเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมที่โรงเรียนผู้สูงอายุ เป็นต้น

เรามองว่านักจัดการเรียนรู้ของเมือง คือการยกระดับเครือข่ายผู้คนที่มีอยู่แล้ว ให้มีศักยภาพในการจัดการเรียนรู้ให้เกิดต่อเนื่อง ซึ่งจากเดิมที่เขาทำอยู่แล้วไปตามโปรเจกต์ อาจจะจัดครั้งเดียวจบตามเงื่อนไขโครงการ บทบาทของพวกเราก็คือมาช่วยขยายความรู้และทักษะของเขา และสร้างกิจกรรมเชื่อมผู้ที่สนใจเข้ามาเพื่อให้เกิดกิจกรรมที่ต่อเนื่องจนเกิดเป็นกิจวัตรของเมือง 

แล้วทางทีมอาจารย์ได้หนุนเสริมกลุ่มนักจัดการเรียนรู้อย่างไรบ้างครับ
นอกจากการเชื่อมผู้สอนกับผู้เรียนเข้าด้วยกัน เราก็พัฒนาหลักสูตรภายใต้แนวคิด ‘โสเป็น’ ซึ่งเป็นภาษาอีสาน แปลง่ายๆ ว่า สื่อสารให้เป็น สื่อสารให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เราก็ดึงผู้มีความสามารถด้านการสื่อสารมาช่วยหนุนเสริมทักษะให้นักจัดการของเรา จากนั้นก็เป็น ‘โสเหล่’ หรือการจับกลุ่มคุยกัน เพราะก่อนจะจัดกิจกรรมอะไรก็ตาม คนที่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับกิจกรรมนั้นเขาก็จะต้องไปโสเหล่กับกลุ่มของเขาก่อนว่าจะเลือกนำเสนอประเด็นอะไร ระหว่างนั้นเราก็ไปร่วมฟังกับเขา และสอดแทรกกลไกที่ช่วยให้ผู้ฟังหรือผู้ร่วมกิจกรรมได้พัฒนาทักษะหรือความรู้ของพวกเขาไปพร้อมกัน

แล้วเท่าที่จัดเสวนามา อาจารย์ได้พบข้อสรุปที่จะช่วยขับเคลื่อนเมือง หรือทำให้เกิด social mobility ที่ตั้งใจไว้หรือยังครับ  จากผู้ร่วมเสวนาหลายเวที เราเห็นตรงกันว่าเมืองเราควรมีกองทุนสักอย่าง ที่ตั้งชื่อไว้ว่า ‘กาฬสินธุ์พัฒนาเมือง’ ซึ่งกองทุนนี้จะมาสนับสนุนกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาทักษะของคนในเมืองเราได้ อย่างศิลปินท้องถิ่นหลายท่านที่มาแสดงงานที่หอศิลป์ เขาก็เสนอมาว่าในเมื่อเรามีหอศิลป์แล้ว ก็ควรจัดงานประมูลศิลปะหาเงินมาสมทบกองทุน นักธุรกิจหลายท่านก็ยินดีที่จะบริจาคเข้ากองทุนเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง หรือมาเป็นค่าตอบแทนของกลุ่มนักจัดการเรียนรู้เมือง ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีมากๆ หรืออย่างเวทีที่เราชวนตัวแทนจากบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด เข้ามาแลกเปลี่ยนมุมมอง ผู้ฟังหลายคนก็เห็นภาพตรงกันว่าถ้าเมืองเรามีบริษัทแบบนี้บ้าง มันก็ช่วยหนุนเสริมการพัฒนาโดยไม่ต้องรอภาครัฐได้เยอะ 

ถ้ามีกองทุนหรือบริษัทพัฒนาเมือง อาจารย์มองว่าจะมีส่วนช่วยให้กาฬสินธุ์หลุดพ้นจากกับดักความยากจนได้จริง?
เรามองเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ และการทำให้กลุ่มเปราะบางหรือขาดโอกาสเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาตัวเองมากกว่าค่ะ ส่วนเรื่องความยากจน จริงอยู่ ในวงวิชาการ ผู้คนมองว่าเมืองของเราเป็นเมืองที่ยากจนมาตลอด แต่ความเป็นจริงแล้วเนี่ย เราไม่ได้คิดว่ากาฬสินธุ์ยากจน คือถ้าพิจารณาจากค่าครองชีพ เงิน 300 บาทกับชีวิตในกาฬสินธุ์ มันมีมูลค่าสูงกว่าชีวิตในเมืองใหญ่อื่นๆ นะ

ก่อนทำโครงการ เราได้รับโจทย์จาก บพท. ว่าจะทำยังไงให้ผู้คนหลุดพ้นจากความยากจน แต่ถ้าพิจารณากันจริงๆ เมื่อพิจารณาในแง่รายได้ บางอำเภอมีคนยากจนจริงๆ แค่ 11 คนเองนะ ที่เหลือเขาไม่ได้คิดว่าเขายากจน เพียงแต่ในภาพรวม GDP เราอาจไม่ได้สูงเท่านั้นเอง

ที่มันไม่ได้สูง เพราะเมืองเราไม่ได้มีการลงทุนขนาดใหญ่ เป็นเมืองเล็กๆ สงบๆ เมืองหนึ่ง หาใช่เมืองท่องเที่ยวที่หวือหวาอะไร แต่ในทางกลับกัน กาฬสินธุ์ก็มีทรัพยากรที่ดีมาก ทั้งธรรมชาติและวัฒนธรรม ที่สำคัญทุนทางสังคมเราก็มีเยอะ อย่างชุมชนภูไท ไม่มีใครอดอยากเลย และยังมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันดีมาก หรือกลุ่มคนทอผ้าไหมแพรวา นี่เขาก็ขายกันได้เป็นล้านๆ มูลค่าการผลิตสูงมาก 

อย่างที่บอกตอนต้น โจทย์ที่สำคัญจริงๆ คือเมืองเรายังมีความเหลื่อมล้ำ แต่เราจะขยับช่องว่างความเหลื่อมล้ำให้ลดลงมาให้มากที่สุดอย่างไรมากกว่า รวมถึงเราจะสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้อย่างไร โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย