ความที่หอศิลป์เมืองกาฬสินธุ์ตั้งอยู่ใจกลางเมือง และใกล้สถานศึกษาหลายแห่ง พื้นที่นี้จึงเป็นเหมือนทั้งพื้นที่นัดหมาย หรือพักผ่อนของเด็กๆ ไปในตัว เหมือนให้พวกเขาได้มาใช้ประโยชน์และซึมซับศิลปะไปพร้อมกัน

Start
381 views
59 mins read

WeCitizens นัดหมายกับ รศ.ดร.กตัญญู แก้วหานาม อาจารย์สาขารัฐประศาสนศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ที่บริเวณสวนสาธารณะริมปาว ติดกับศาลเจ้าพ่อโสมพะมิตร ในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์

นี่เป็นการสนทนาที่อาจไม่ได้ราบรื่นนัก เพราะพื้นที่แห่งนี้กำลังจัดพิธีเปิดมหกรรมฟื้นใจเมือง ‘ภูมิถิ่น แก่งสำโรง โค้งสงเปลือย’ มหกรรมทางวัฒนธรรมประจำปีของเมืองที่จัดเป็นครั้งแรก โดยต่อยอดมาจากพิธีสักการะพระยาชัยสุนทร (ท้าวโสมพะมิตร) นั่นทำให้การสนทนาของเราถูกแทรกด้วยเสียงจากกิจกรรมบนเวที และเสียงของผู้คนที่มาร่วมงานอยู่บ่อยๆ

แน่นอน ที่เรานัดคุยกับอาจารย์ในพื้นที่อันแสนอึกทึกขนาดนี้ ไม่ใช่เหตุผลใดอื่น นอกจากที่อาจารย์ในฐานะตัวแทนของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เป็นเจ้าภาพร่วมกับทางเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ และ บพท. (หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่) รวมถึงภาคส่วนต่างๆ จัดงานครั้งนี้

และใช่ งานมหกรรมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้กาฬสินธุ์ ซึ่งอาจารย์กตัญญูเป็นหัวหน้าโครงการ ร่วมกับทีมนักวิจัยขับเคลื่อนมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา (2564-2565) นั่นจึงไม่มีสถานที่ไหน เหมาะจะเป็นพื้นที่ให้เราพูดคุยเกี่ยวกับโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ นอกจากสถานที่จริงอันเป็นผลลัพธ์ของโครงการนี้โดยตรง

การพัฒนาต้นแบบเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) ผ่านระบบกลไกความร่วมมือเชิงพื้นที่เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น กรณีศึกษาเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ คือชื่อเต็มของโครงการดังกล่าว ซึ่งอาจารย์กตัญญูรับทุนจาก บพท. มาขับเคลื่อนเพื่อทำให้กาฬสินธุ์เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในเมือง และพัฒนากรอบหลักสูตรท้องถิ่นสำหรับคนทุกช่วงวัยเชื่อมโยงกับพื้นที่การเรียนรู้ในเมือง

ซึ่งนอกจากมหกรรมทางวัฒนธรรมระดับจังหวัดงานนี้ ทางโครงการยังได้ร่วมกับเทศบาลเมือง ผลักดันให้เกิดพื้นที่การเรียนรู้ในรูปแบบหอศิลป์และตลาดวัฒนธรรมตามจุดต่างๆ ของพื้นที่เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์

ท่ามกลางเสียงจากเครื่องดนตรีโปงลาง เครื่องดนตรีพื้นถิ่นของเมืองกาฬสินธุ์ เสียงรำวงย้อนยุค เสียงฮือฮาของวัยรุ่นที่กำลังรับชมการประกวดโคเวอร์แดนซ์ ไปจนถึงเสียงพิธีกรกำลังประกาศถึงการเดินแฟชั่นโชว์ผ้าพื้นเมืองบนเวที เราขอยืมเวลาอาจารย์กตัญญูมาสักครู่ เพื่อพูดคุยถึงเบื้องหลังของกิจกรรมเหล่านี้ และความตั้งใจที่จะพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้กาฬสินธุ์ให้กลายเป็นเมืองที่ผู้คนอยู่แล้วมีความสุข

ก่อนอื่นเลย ขอให้อาจารย์เล่าถึงจุดเริ่มต้นของโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้กาฬสินธุ์หน่อยครับ
มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์เข้ามาทำโครงการนี้ในปี 2564 ครับ ต้องเท้าความก่อนว่า ทางมหาวิทยาลัยศิลปากรร่วมกับทางเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เข้ามาทำโครงการตลาดเมืองเก่าย้อนเวลา ณ ชุมชนเมืองกาฬสินธุ์ ก่อน และทางมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ก็ได้ทุนจาก บพท. ในกรอบของเมืองแห่งการเรียนรู้เหมือนกัน ก็เลยไปแจมกับเขา ด้วยตั้งใจให้โครงการนี้เป็นการถ่ายโอนความรู้สู่คนทุกช่วงวัย ศิลปากรเขาทำตลาด เราก็คิดว่าน่าจะเสริมพื้นที่การเรียนรู้ในตลาดโดยการทำ ‘ตลาดนัดเด็กดี’ เป็นโซนหนึ่งในนั้น

โดยภายในตลาดนัดเด็กดีเนี่ยจะเป็นพื้นที่ที่รองรับเด็กๆ ที่มากับผู้ปกครองที่เขามาจับจ่ายซื้อของในตลาดเมืองเก่า เหมือนให้พ่อแม่พาลูกมาฝากกับพื้นที่เราไว้ และเราก็ออกแบบกิจกรรมให้เด็กๆ ได้เรียนรู้หมุนเวียนทุกสัปดาห์ เช่น การระบายสีปูนปั้น ปริ้นท์ภาพมาให้เด็กๆ ได้ระบายสี จับฉลากแลกของขวัญ ไปจนถึงการชวนประธานชุมชนหรือปราชญ์ชาวบ้านมาเล่าเรื่องเมือง หรือชวนเด็กๆ คุยถึงภูมิปัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวกับบ้านเกิดของพวกเขา เป็นตลาดซ้อนเข้าไปในตลาดอีกที โดยตลาดของเราเน้นเรื่องการใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมเมืองมาสร้างพื้นที่การเรียนรู้เสริมเข้าไป  

จากตลาดนัดเด็กดี อาจารย์ต่อยอดไปสู่ตลาดอื่นๆ รวมถึงการสร้างพื้นที่การเรียนรู้อื่นๆ ได้อย่างไรครับ
อาจจะบอกว่าตลาดนัดเด็กดีเป็นเหมือนโครงการนำร่องของการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ก็ได้ครับ แต่ต้องขอเล่าย้อนกลับไปอีกนิด คือก่อนทำโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้เนี่ย ผมได้เข้าไปคุยกับนายกเทศมนตรีเมืองกาฬสินธุ์ คุณจารุวัฒน์ บุญเพิ่ม เพื่อถามถึงวิสัยทัศน์ของท่าน ที่ทางพวกเราจะสามารถนำกลไกการเรียนรู้ไปร่วมขับเคลื่อนด้วยได้ เพราะถ้าเราทำในมิติที่ไม่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของเมือง โครงการนี้ก็คงไม่มีประโยชน์อะไร

ท่านก็ได้บอกพวกเราชัดเจนเลยว่ามีความตั้งใจให้เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์เป็นเมืองอุดมสุข โดยมีด้วยกัน 4 มิติ คือ เมืองน่าอยู่ น่าศึกษา น่าท่องเที่ยว และน่าลงทุน ทีนี้ผมก็เล่าให้ท่านฟังว่ากำลังจะขับเคลื่อนโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ในพื้นที่เทศบาล พร้อมกับเล่าว่าสิ่งนี้มันก็สอดรับกับนโยบายของเมืองอุดมสุขด้วยนะ ท่านก็เห็นดีด้วย และก็คิดว่าจะร่วมงานกับเราอย่างไร ก่อนจะพบว่าทางกองการศึกษาของเทศบาลดูแลเรื่องตลาดวัฒนธรรมและหอศิลป์เมืองกาฬสินธุ์อยู่แล้ว น่าจะร่วมกันสร้างพื้นที่การเรียนรู้ในสองพื้นที่นี้ได้ ขณะเดียวกัน ท่านก็บรรจุโครงการที่เรากำลังจะทำนี้ลงไปในแผนท้องถิ่น เพื่อจัดสรรงบประมาณมาสนับสนุนด้วย ทีนี้โครงการที่เราทำจึงไม่ใช่แค่ที่เราได้จากงบของ บพท. แต่เทศบาลก็มาร่วมสนับสนุนทั้งงบประมาณ พื้นที่ และบุคลากรให้เราด้วย กลายเป็นแม่งานไปพร้อมกับเราเลย

กลายเป็นว่าร่วมกับเทศบาลทำพื้นที่เรียนรู้ในหอศิลป์เมืองกาฬสินธุ์และตลาดวัฒนธรรมด้วยเลย 
ใช่ครับ อย่างหอศิลป์เมืองกาฬสินธุ์เนี่ย เดิมมันเป็นศาลากลางหลังเก่า หลังจากศาลากลางย้ายออกไป เทศบาลก็ได้รับมอบให้ดูแลอาคารหลังนี้ โดยชั้นบนทางวัฒนธรรมจังหวัดเขาขอไปใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ของดีเมืองกาฬสินธุ์แล้ว ชั้นล่างยังว่าง เทศบาลจึงหารือกับเครือข่ายภาคประชาชนว่าจะปรับปรุงพื้นที่นี้เป็นอะไรดี คุยกันสักพักหนึ่ง จนสรุปออกมาเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย เพราะกาฬสินธุ์และจังหวัดใกล้เคียงเรามีศิลปินอยู่เยอะ แต่ที่ผ่านมาเมืองไม่เคยมีพื้นที่แสดงงานศิลปะเลย เขาก็ต้องไปแสดงงานที่อื่นกัน

พอตกลงกันได้แล้ว ทางเทศบาลก็ร่วมกับมูลนิธิศิลปะอีสาน ซึ่งมีศิลปินชาวกาฬสินธุ์ อาจารย์เจษฎา คงสมมาศ เป็นประธาน มาปรับปรุงพื้นที่ โดยทางโครงการของเราก็มาช่วยจัดนิทรรศการ จนเกิดเป็นนิทรรศการแรกในชื่อ ‘นิทรรศการทุนศิลปะอีสาน ประจำปี 2565’ ก่อนที่จะมีการวางแผนจัดนิทรรศการหมุนเวียนทุกเดือนไปตลอด
 
ทั้งนี้พื้นที่ด้านหน้าห้องแสดงนิทรรศการ เราก็ชวนศิลปินท้องถิ่นมาวาดภาพสามมิติที่สะท้อนอัตลักษณ์ของอำเภอต่างๆ ทั้ง 18 อำเภอ เพื่อดึงดูดให้คนแวะเวียนมาถ่ายรูปด้วย ซึ่งความที่หอศิลป์เมืองกาฬสินธุ์ตั้งอยู่ใจกลางเมือง และใกล้สถานศึกษาหลายแห่ง พื้นที่นี้จึงเป็นเหมือนทั้งพื้นที่นัดหมาย หรือพักผ่อนของเด็กๆ จากสถาบันต่างๆ ไปในตัว เหมือนให้พวกเขาได้มาใช้ประโยชน์และซึมซับศิลปะไปพร้อมกัน

นี่เป็นพาร์ทหนึ่งของโครงการที่เราทำร่วมกับตลาดวัฒนธรรมที่มีการจัดตั้งต่อยอดจากที่ทางมหาวิทยาลัยศิลปากรได้ริเริ่มไว้ที่ตลาดเก่า

แล้วกับพื้นที่ตลาดล่ะครับ นอกจากตลาดนัดเด็กดีที่เกริ่นไว้แล้ว อาจารย์ขับเคลื่อนต่อยังไง
เราสร้างตลาดนัดวัฒนธรรมขึ้นมาต่อจากโครงการตลาดเมืองเก่าของมหาวิทยาลัยศิลปากรที่จบลงไปครับ ใช้ชื่อว่า ‘ตลาดสร้างสุข’ ตอนแรกก็ใช้พื้นที่เมืองเก่าของตลาดเดิมอยู่ก่อน ซึ่งจัดทุกเย็นวันพฤหัสบดีครับ แต่ความที่เราร่วมกับเทศบาล และพื้นที่ตรงนั้นก็เป็นที่ตั้งของร้านไส้กรอกปลาที่เป็นธุรกิจของนายกเทศมนตรีอยู่ นายกฯ ก็เลยกลัวเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน จึงย้ายมาตั้งอยู่ด้านข้างศาลเจ้าพ่อโสมพะมิตร บริเวณโค้งแก่งสำโรง ริมคลองปาว ซึ่งมันก็สอดคล้องกับที่ทางเทศบาลได้งบประมาณมาพัฒนาพื้นที่ริมน้ำบริเวณนั้นด้วย พอมีตลาดวัฒนธรรมมันก็ช่วยดึงดูดให้คนมาใช้พื้นที่ได้มากขึ้น

อย่างงานที่เรามาวันนี้ (มหกรรมฟื้นใจเมือง ‘ภูมิถิ่น แก่งสำโรง โค้งสงเปลือย) ถือว่าเป็นการย้ายมาจัดตลาดตรงพื้นที่นี้ครั้งแรก ปกติชาวกาฬสินธุ์จะมีพิธีบวงสรวงพระยาชัยสุนทร (ท้าวโสมพะมิตร) อยู่แล้ว เราก็เลยร่วมกับทางเครือข่ายชุมชน ถือเอาช่วงเวลาจัดพิธีนี้มาจัดมหกรรมและทำตลาดนี้ด้วยเลยดังที่เห็นครับ

นอกจากนี้ พอเริ่มทำหอศิลป์ฯ แล้ว เราก็คุยกับทางเทศบาลว่าอยากให้พื้นที่เรียนรู้มันออกมาข้างนอกหอศิลป์ฯ บ้าง ก็เลยจัดตลาดสร้างสุขอีกแห่งตรงถนนรอบหอศิลป์ฯ เลย โดยจัดทุกเย็นวันอังคาร ทำให้ในตัวเมืองเรามีตลาดวัฒนธรรมสองวัน คือวันอังคารบริเวณหอศิลป์ฯ และวันพฤหัสบดีที่ริมน้ำปาว โดยในภาพใหญ่ เราได้ทำเส้นทางการท่องเที่ยวเรียนรู้เมืองกาฬสินธุ์ด้วย ซึ่ง 2 พื้นที่ดังกล่าวอยู่ใน 5 แลนด์มาร์คเรียนรู้เมือง โดย 3 แห่งที่เหลือคือ อนุสาวรีย์พระยาชัยสุนทร วัดกลาง และย่านเมืองเก่า

เข้าใจว่าทำตลาดคือการทำพื้นที่ที่ชวนพ่อค้าแม่ค้าท้องถิ่นมาออกร้านขายของ แล้วเราทำเป็นพื้นที่เรียนรู้ได้อย่างไรครับ
เป็นโมเดลแบบที่เราเห็นในงานวันนี้เลยครับ คือมีกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่เปิดโอกาสให้คนทุกช่วงวัยได้เข้าร่วม อย่างในตลาดสร้างสุข เราก็มีพื้นที่สำหรับเผยแพร่หลักสูตรท้องถิ่นครับ หลักสูตรนี้มันจะถูกฝังเข้าไปในวิชาการศึกษาท้องถิ่นที่ทางโครงการเราร่วมจัดทำขึ้น และกองการศึกษาของเทศบาลได้บรรจุลงในการเรียนการสอนของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลทั้ง 6 แห่ง วิชานี้มันไม่ใช่แค่เรียนเรื่องเมือง แต่ยังครอบคลุมถึงทักษะอื่นๆ อย่างการปลูกผักสวนครัว ทีนี้ตลาดมันเอื้อยังไง ก็คือเมื่อเด็กๆ ปลูกผักจนได้ผลผลิตแล้ว พวกเขาก็สามารถนำมาขายที่ตลาดแห่งนี้ได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ในตลาดก็ยังมีพื้นที่จัดเวิร์คช็อปด้านศิลปะหัตถกรรมพื้นบ้านกาฬสินธุ์ให้เด็กๆ มาร่วมสนุก รวมถึงการจัดเวทีสาธารณะที่ชวนตัวแทนจากเครือข่ายภาคประชาชนต่างๆ มาแลกเปลี่ยนประเด็นเกี่ยวกับเมืองกัน โดยจัดที่ตลาดบริเวณหอศิลป์ฯ ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากคนที่มาเดินตลาดมาก กลายเป็นว่า นอกจากมาเดินตลาดแล้ว ผู้ใหญ่ยังได้รับฟังหรือได้แลกเปลี่ยนเรื่องการพัฒนาเมือง ส่วนเด็กๆ ก็มีกิจกรรมให้ร่วมสนุกระหว่างที่ผู้ปกครองเดินซื้อของอีกด้วย ทำให้พื้นที่การเรียนรู้มันผสานไปกับวิถีชีวิตของคนกาฬสินธุ์

แล้วนอกจากตลาดและหอศิลป์ฯ โครงการของอาจารย์ยังมีส่วนในการขับเคลื่อนพื้นที่เรียนรู้อื่นๆ ในเมืองอีกไหม

ก็มีไปร่วมกับ กศน. ผ่านกิจกรรมที่จัดในห้องสมุดประชาชน รวมถึงขับเคลื่อนกิจกรรมในศูนย์เรียนรู้ของเทศบาลอีก 6 แห่ง ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนที่แล้ว (มกราคม 2566) โดยกิจกรรมที่ว่านี่คือโครงการนักจัดการเรียนรู้เมือง กล่าวคือการดึงปราชญ์ที่มีความรู้เฉพาะทางมาเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เขามีต่อคนในเมืองตามศูนย์ต่างๆ ต่อไป รุ่นแรกก็มีอาจารย์เจษฎา คงสมมาศ ที่ทำเรื่องศิลปะ และดร.อุมารินทร์ เลิศสหพันธ์ ที่เป็นประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ มาดูเรื่องศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ทางเทศบาลเขาก็มีสภาเด็กและเยาวชน ที่มาร่วมออกแบบกิจกรรมตามพื้นที่การเรียนรู้ต่างๆ เช่น การประกวดโคเวอร์แดนซ์ การประกวด One Man One Woman เป็นการประกวดการแต่งกายสองเพศ เพื่อสร้างความเข้าใจในมิติของเพศหลากหลาย รวมถึงการแสดงดนตรี โดยงานของสภาเด็กฯ จัดขึ้นที่หอศิลป์ฯ เมื่อต้นปีที่ผานมา 

ดูเหมือนหลายโครงการที่อาจารย์เล่า จะโฟกัสไปที่เด็กและเยาวชนในเมืองกาฬสินธุ์พอสมควร
เป็นส่วนหนึ่งมากกว่าครับ เราเห็นว่าพื้นที่การเรียนรู้มันควรจะเป็นของคนทุกช่วงวัย แต่การปลูกฝังการเรียนรู้ตั้งแต่เด็กและเยาวชนก็เป็นเรื่องสำคัญ เลยเน้นตรงนี้พอสมควร อย่างไรก็ตาม ในระดับของช่วงวัยอื่น เราก็เห็นผลตอบรับที่น่าพอใจมากๆ อย่างเวทีเสวนาที่ตลาดสร้างสุข ก็มีผู้ใหญ่ที่มาเดินตลาดร่วมฟัง และแลกเปลี่ยนความคิดเยอะ 

หรือพอเราจัดงานที่หอศิลป์ฯ บ่อยเข้า พักหลังทุกอีเวนท์ที่สำคัญที่เกิดขึ้นในเมือง หน่วยราชการที่เป็นเจ้าภาพเขาก็เลือกมาแถลงข่าวที่นี่หมด เพราะคนเริ่มรู้จักมากขึ้น ติดตลาดมากขึ้น ขณะเดียวกันเราก็ใช้เฟซบุ๊ค Kalasin Learning City (www.facebook.com/kalasinlearner)  ที่เราสร้างขึ้นมาช่วยกระจายข่าว

กลายเป็นว่าหอศิลป์เมืองกาฬสินธุ์มีรูปแบบคล้ายๆ ศาลาประชาคมไปด้วยเลย ซึ่งดีนะครับ เพราะลึกๆ เราก็อยากปลูกฝังศิลปะเข้าไปกับผู้คนในเมืองด้วย กาฬสินธุ์เป็นเมืองที่มีรากเหง้าทางศิลปวัฒนธรรม และผู้คนก็มีศิลปะด้วย เพียงแต่เราไม่เคยมีพื้นที่อย่างเป็นทางการให้เขา พอมีพื้นที่กลางของเมืองที่เป็นพื้นที่ศิลปะไปพร้อมกัน มันก็ช่วยส่งเสริมบรรยากาศของการเรียนรู้ให้มากขึ้นไปอีก

อันนี้ต้องยกเครดิตให้อาจารย์เจษฎา นักจัดการเรียนรู้เมืองรุ่นแรกของเราด้วย ท่านมองไกลถึงขนาดอยากให้หอศิลป์แห่งนี้ดึงผลงานศิลปะของศิลปินระดับนานาชาติมาจัดแสดงให้คนกาฬสินธุ์ชม ซึ่งปัจจุบัน นอกจากศิลปินชั้นนำระดับประเทศ ก็เริ่มมีงานของศิลปินต่างประเทศมาจัดแสดงในนิทรรศการกลุ่มบ้างแล้ว

หรือสังเกตอย่างงานวันนี้ เรายังได้เชิญ อาจารย์ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ มาวาดภาพโชว์ในพิธีเปิดด้วย ซึ่งก็เป็นแม่เหล็กหนึ่งที่ทำให้ศิลปินจากทั่วประเทศเห็นว่ากาฬสินธุ์เรามีพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยแล้วนะ และมันก็มีนิทรรศการหมุนเวียนจัดแสดงทุกเดือนด้วย ผมก็แนะนำให้ทางเทศบาลที่ดูแลพื้นที่นี้คอยเก็บสถิติผู้เข้าชม และลองปรับเปลี่ยนวิธีการประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงผู้ที่สนใจมากขึ้น ผมมองว่าพื้นที่แห่งนี้มันดึงดูดเรื่องการท่องเที่ยวเมืองได้อย่างมีนัยสำคัญเลยล่ะ

อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การคมนาคมขนส่งครับ เพราะอย่างที่บอกเราได้จัดทำเส้นทางท่องเที่ยวเรียนรู้เมืองผ่าน 5 แลนด์มาร์คสำคัญ (หอศิลป์เมืองกาฬสินธุ์ อนุสาวรีย์พระยาชัยสุนทร วัดกลาง ตลาดเมืองเก่า และแก่งสำโรง บริเวณศาลเจ้าโสมพะมิตร) แต่เรายังไม่มีระบบขนส่งให้ผู้คนได้ไปยังจุดต่างๆ อย่างงานที่เราจัดวันนี้ เราได้ความอนุเคราะห์จากภาคเอกชน (บริษัท สหไทยศึกษาภัณฑ์ จำกัด) นำรถไฟฟ้ามารับส่งผู้ชม ในอนาคตอันใกล้ เราเลยมีแผนการกับเทศบาลในการทำรถชัตเติ้ลบัสเล็กๆ รับส่งผู้คนตามจุดต่างๆ ในตัวเมืองเป็นการถาวรต่อไป

พูดถึงความร่วมมือกับทางเทศบาล ทราบมาว่าในปี 2565 ที่ผ่านมา เทศบาลได้เสนอรายชื่อเมืองกาฬสินธุ์เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ไปที่ยูเนสโกด้วย
ใช่ครับ เป็นผลต่อเนื่องจากที่ผมนำโครงการไปคุยกับท่านนายกฯ เมื่อปี 2564 ท่านก็เห็นความสำคัญ เลยทำเอกสารเสนอไปเพื่อขอปี 2565 แต่เราไม่ได้ เพราะปีนั้นยูเนสโกประกาศเลือกมา 3 เมือง (พะเยา, หาดใหญ่ และสุโขทัย – ผู้เรียบเรียง) ซึ่งพอไม่ได้ เราก็กลับมาพิจารณากันว่าเมืองเรายังขาดอะไร และก็พบว่าหลักๆ คือเรื่องของการสื่อสาร โดยเฉพาะการสื่อสารในระดับนานาชาติ ปีนี้เราเลยให้ความสำคัญกับการใช้ภาษาอังกฤษและภาษาจีนในสื่อต่างๆ อย่างที่เห็นในงานวันนี้ หรือการจัดกิจกรรมตามที่ต่างๆ เราก็พยายามดึงชาวต่างชาติมาเข้าร่วม อย่างเมืองเรามีกลุ่มเขยฝรั่งอยู่เยอะ เราก็ออกแบบกิจกรรมที่พวกเขาสามารถร่วมได้ เป็นต้น

แล้วในมุมของอาจารย์ คิดว่าทำไมกาฬสินธุ์ควรอยู่ในเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกครับ

ผมคิดว่าเมืองเรามีศักยภาพน่ะครับ กาฬสินธุ์มีศิลปวัฒนธรรมและมีประวัติศาสตร์ที่เอาเข้าจริงเกิดก่อนกรุงเทพฯ ด้วยซ้ำ ทั้งพื้นที่ประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคทวารวดีที่พระธาตุยาคู หรือตำนานเมืองฟ้าแดดสงยาง หรือการเป็นแหล่งขุดพบไดโนเสาร์ที่สามารถพัฒนาเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกได้อีก ไม่นับรวมศิลปวัฒนธรรมที่สั่งสมกันมา ทั้งผ้าไหมแพรวา โปงลาง รวมถึงศาสตร์ด้านประติมากรรม หลายท่านอาจไม่รู้ว่าพวกประติมากรรมตามวัดดังๆ หลายแห่งทั่วประเทศ เป็นฝีมือช่างปั้นของกาฬสินธุ์ทั้งนั้น ผมจึงมองว่าเมืองของเรามีทรัพยากรและองค์ความรู้ที่พร้อมเปิดให้คนมาเรียนรู้ได้อีกเยอะ
 
ก็เลยพยายามให้เกิดจุดเริ่มต้นจากเทศบาลเมืองนี่แหละ เพราะมันเป็นศูนย์กลางของเมือง เหมือนที่สอดคล้องกับโครงการ ‘ฟื้นใจเมือง’ วันนี้ ถ้าศูนย์กลางของจังหวัดมันขายได้ ย่านอื่นๆ หรืออำเภออื่นๆ ก็จะขายได้ด้วยเช่นกัน และนั่นก็หมายถึงการช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจให้คนในเมือง เศรษฐกิจดีขึ้น เมืองก็จะดึงดูดให้คนมาอยู่มากขึ้น คนที่อยู่ก็มีความสุขขึ้น


เท่าที่ฟังมาทางโครงการอาจารย์ร่วมกับเทศบาลเป็นหลัก เลยอยากทราบว่านอกจากเทศบาล เราได้ร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ของจังหวัดอีกด้วยไหม
ผมไม่ได้บอกแต่แรก จริงๆ เราร่วมหมดทั้งภาคเอกชน อบจ. หอการค้า สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สมาคมท่องเที่ยว และอื่นๆ ครับ ซึ่งกิจกรรมหลายกิจกรรมที่ผ่านมาคงไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งหมดที่ว่ามานี้ และก็จะเห็นว่าทุกหน่วยงานได้ส่งตัวแทนมาร่วมกิจกรรมกับเราหมด

หรือในเชิงกลยุทธ์การขับเคลื่อนเมือง ล่าสุดเราก็ได้ร่วมกับทาง YEC (โครงการรวมกลุ่มของนักธุรกิจรุ่นใหม่) จัดประชุมถอดบทเรียน บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด เพื่อเป็นการตั้งไข่ ‘กาฬสินธุ์พัฒนาเมือง’ ของเราบ้าง โดยก็เชิญทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด (ศุภศิษย์ กอเจริญยศ) นายก อบจ. (เฉลิมขวัญ หล่อตระกูล) และเครือข่ายภาคธุรกิจต่างๆ ของเมืองมาร่วมรับฟัง ร่วมกับผู้บริหารของ สกสว. แล้วมาดูกันว่าด้วยบริบทของเมืองเราเป็นแบบนี้ กาฬสินธุ์จะสามารถมีบริษัทพัฒนาเมืองแบบขอนแก่นได้ไหม

และเรื่องนี้สำคัญ การสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ของจังหวัด มันทำให้ทุกคนเห็นภาพตรงกันว่าเราจะขับเคลื่อนเมืองไปทางไหน เราร่วมกับเทศบาลก่อนเพื่อจะได้ฝังกลไกเมืองแห่งการเรียนรู้เข้าไปอยู่ในยุทธศาสตร์ของเมือง เพื่อที่ว่าเมื่อโครงการวิจัยสิ้นสุดไปแล้ว เทศบาลเขาก็สามารถทำงานต่อได้ด้วยตัวเขาเอง โดยเราอาจถอยไปเป็นที่ปรึกษา ซึ่งก็ปรากฏผลลัพธ์อย่างที่เกิดในหอศิลป์หรือตลาดวัฒนธรรมที่จัดขึ้นเป็นการถาวรไปแล้ว ทีนี้กับภาคส่วนต่างๆ ถ้าเขาเห็นประโยชน์ร่วม และเขาก็ต่างมีความต้องการอยากพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจอยู่แล้ว มันก็ง่ายต่อการทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนต่อ

ทั้งนี้ ล่าสุดทางมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ก็ได้ทำ proposal เพื่อขอทุน บพท. มาทำโครงการต่อ โดยอยู่ระหว่างการพิจารณา (สัมภาษณ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566) แต่ถึงเราจะไม่ได้ ผมก็ไม่ได้กังวลเลย เพราะอย่างน้อยเราก็ได้ฝังกลไกให้สิ่งที่เราริเริ่มไว้ได้ทำงานไปอย่างเป็นอัตโนมัติแล้ว

ในขณะที่นายกเทศมนตรีเขามีวิสัยทัศน์ว่าอยากให้กาฬสินธุ์เป็นเมืองอุดมสุข แล้วในมุมของอาจารย์ อยากเห็นกาฬสินธุ์เติบโตไปเป็นเมืองแบบไหน
ก็ไม่ต่างจากท่านนายกฯ ครับ อยากให้เป็นเมืองที่ทุกคนอยู่แล้วมีความสุข ทำมาค้าขายดี เศรษฐกิจยั่งยืน แต่ถ้ามองจากสิ่งที่โครงการขับเคลื่อนมาและต้นทุนที่เรามี กาฬสินธุ์น่าจะเป็นเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ เพราะอย่างที่บอก เรามีต้นทุนด้านศิลปะเยอะมากๆ และเราใช้ความคิดสร้างสรรค์มาเพิ่มมูลค่าให้ต้นทุนด้านความหลากหลายทางศิลปะของเมืองเราได้

แม้เราจะไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวชั้นนำอะไร แต่ผู้คนจากหลายจังหวัดก็แวะเวียนมาที่กาฬสินธุ์เพื่อมาไหว้พระ ชมวัดดังๆ รวมถึงไปชมแหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ ถ้าเรายกระดับเรื่องศิลปะสร้างสรรค์ให้เป็นแม่เหล็กได้อีก มันก็ช่วยดึงดูดคนได้มากกว่านี้อีกเยอะครับ 

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย